http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,276,861
Page Views16,603,482
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ในคมขวาน2. วัดป่า-ลมหายใจแห่งป่าและธรรมะในอุบลราชธานี โดยสาวภูไท เรื่อง-ภาพ

ในคมขวาน2. วัดป่า-ลมหายใจแห่งป่าและธรรมะในอุบลราชธานี  โดยสาวภูไท เรื่อง-ภาพ

ในคมขวาน ๒ 

วัดป่า-ลมหายใจแห่งป่าและธรรมะในอุบลราชธานี

โดย สาวภูไท

            อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช     เป็นนามที่จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันได้รับพระมหากรุณา โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองชื่อดังกล่าว เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕

            อุบลราชธานีในช่วงนั้นคงเหมาะสมแล้วกับคำว่า “ศรีวนาลัยประเทศราช” เพราะความเป็นเมืองเล็ก ๆ เพิ่งอพยพหนีจากจำปาศักดิ์ได้ไม่ถึงครึ่งศตวรรษด้วยซ้ำ  ที่พากันหอบลูกจูงหลานบุกป่าฝ่าดง ข้ามภูเขาและสายน้ำ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กันมา  ก่อตั้งเป็นชุมชนบ้านเมือง ณ ดอนมดแดง  และขยับย้ายสู่ริมห้วยมูลน้อย  ห้วยแจระแมซึ่งเป็นสายน้ำสาขาเล็ก ๆ ที่ไหลรวมลงแม่น้ำมูล  สภาพแวดล้อมทั่วไปเต็มไปด้วยดงหนาป่าใหญ่ดังในหนังสือประวัติเมืองอุบลราชธานี และตำนานต่าง ๆ ที่กล่าวถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่อุบลราชธานีต้องส่วยให้ทางกรุงเทพนั้น รายการสิ่งของที่ต้องส่งส่วยประจำปีนอกจากผ้าขาว  ต้นไม้เงิน  ต้นไม้ทองแล้วยังมีของจากป่า เช่น น้ำผึ้ง  หมากแหน่ง(เร่ว)  นอระมาด(นอแรด)อีกด้วย  นั่นแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าจึงหาได้ง่าย ๆ ในแถบนี้  โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งเมืองนั้นเป็นป่าใหญ่ใหญ่มีต้นยางนาสูงเสียดฟ้าอยู่หนาแน่น  ในประวัติศาสตร์อุบลราชธานีฉบับภาษาลาวชำระโยปรีชา พิณทองกล่าวถึงว่า  “เผิ้งและมิ้ม  มีแท้สู่หง่ายาง” หมายถึงทุกกิ่งของต้นยางมีรังผึ้งรังมิ้มเกาะเกี่ยวห้อยแขวนอยู่มากมาย

            แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้วหละ  อย่าว่าแต่จะแลหาป่าหาดงอู่ผึ้งในเขตเมืองอุบลไม่เห็นเลยนะ  นอกเขตตัวเมือง  ห่างไกลออกไป ถึงไหน ๆ ป่าก็กำลังหายสูญไปหมดแล้ว

เพื่อแทนที่ด้วยพืชเศรษฐกิจทั้งหลายตั้งแต่มันสำปะหลัง  อ้อย  ปาล์ม และที่รุกล้ำใหญ่โตตอนนี้ก็คือ  ยางพารา  ที่กินผืนป่าไม่ใช่เฉพาะในเขตอุบลราชธานีแต่ขยายไปทั่วไทยแลนด์แล้ว

            แต่ในความเป็นอุบลราชธานีนั้นสิ่งดี ๆ ที่บรรพบุรุษให้ไว้เป็นมรดกสืบทอดตลอดมามากมาย   

            เฉพาะในด้านป่าไม้แล้ว เราเคยมีดงป่าศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อเดิมไว้มรดก  เป็นป่าต้องห้ามตามจารีดฮีตคองที่ใคร ๆ เหล่าลูกหลานเหลนโหลนจะไม่ไปล่วงล้ำก้ำเกิน โดยสำนึกและข้อห้ามว่าเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณปู่ย่าตายาย ปู่สังกะสาย่าสังกะสี จึงเรียกป่านี้ว่า  “ดงปู่ตา”   “ดอนเจ้าปู่”  ฯลฯ

            แต่นั่นก็เป็นอดีตไปแล้ว  หลายแห่งกลายเป็นที่ตั้งสำนักงานอบต.  โรงเรียน  ที่ว่าการอำเภอ  และตลาดชุมชนไปแล้ว

            ฮือ...ๆ...ๆ...เสียดายน่ะ  เคยไปหาเห็ดหาหน่อไม้แหย่มดแดงเมื่อคราเป็นเด็กอยู่แท้ ๆ

            “ต่อไปจะเหลือต้นไม้อยู่แค่สามร่มโพธิ์ศรี”   แม่เคยบอกไว้

            เราได้แต่พิศวงตีปัญหาแม่ไม่ออก 

            มาบัดนี้ที่ได้ไปทำบุญไหว้พระในวัดป่าบ่อย ๆ โดยเฉพาะวัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชา  ซึ่งมีสาขาอยู่อีกมากมายทั่วเขตแคว้นแดนอุบลราชธานี  และอื่น ๆ ไปแทบทั้งโลก  เราจึงสรุปได้  สามร่มโพธิ์ศรีที่แม่ว่าคือ ร่ม พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์นั่นเอง โดยเฉพาะในเขตแดนแห่งวัดป่า

            “นี่เราก้าวเข้ามาในโลกอีกโลกหนึ่งแล้วหรือ”

            เพื่อนผู้มาจากกรุงเทพฯของเราเอ่ย  เมื่อเราพาไปไหว้พระที่วัดป่านานาชาติ   เธอเพิ่งมาเยือนอุบลราชธานี  หลังจากฝ่าดงรถยนต์ที่ติดยาวเหยียดในตัวเมืองออกมาสู่วัดแห่งนี้ที่อยู่ห่างออกมาเพียงไม่กี่กิโลเมตร

            แดดเปรี้ยง ๆ ส่งไอร้อนระอุบนท้องถนนแทบจะเผาผู้คนให้ละลาย  ครั้นย่างกรายเข้าในเขตวัดป่าก็ราวกับเรามาอยู่อีกโลกหนึ่งดั่งที่เธอว่าแล้วจริง ๆ

            จึงถือเป็นความโชคดีของอุบลราชธานี  เป็นโชคดีของผืนป่าและหล้าโลกด้วย  โชคดีที่เรามีหลวงปู่ชาผู้วางรากฐานวัดของท่านและสาขาไว้เป็นมรดก ทั้งมรดกทางธรรม และธรรมชาติ  ศรัทธาที่เกิดต่อตัวท่านที่มีมากมายล้นเหลือนั่นเองที่ช่วยรักษาป่าพงดงดอนไว้ในหลาย ๆ เขตวัด

            วัดหนองป่าพง  คือต้นแบบก่อกำเนิดวัดสาขาอีกมากมายตามมา  สมัยที่หลวงปู่ชายังมีชีวิตอยู่นั้น  มีผู้คนจากทุกทิศ ทั้งใกล้ไกลเดินทางมากราบไหว้  บ้างมาจากหมู่บ้านที่มีวัดประจำหมู่บ้านอยู่แล้วก็ยังข้ามกรายมากราบไหว้ด้วยใจศรัทธาเลยพากันยกวัดในหมู่บ้านให้หลวงปู่ส่งลูกศิษย์ลูกหาไปดูแล และกลายเป็นวัดสาขาของหนองป่าพงไปก็มีหลาย  ป่าพงดงสงวนบางแห่งถูกชาวบ้านบุกรุกเหลือแต่ตอ  ผุดโผล่บนที่แล้งโล้น  กรมป่าไม้ทั้งกรมเอาไม่อยู่  จึงได้มานิมนตร์หลวงปู่ไปช่วย  หลวงปู่ส่งลูกศิษย์องค์เดียวไปพำนักจัดตั้งสำนักสงฆ์   เท่านั้นแหละชาวบ้านทั้งหลายกลับมาช่วยกันปลูกป่า  ปลูกต้นไม้รายล้อมจนพงหนาป่าทึบขึ้นมาอีกน่าอัศจรรย์

            มีเรื่องเล่าว่า  เมื่อเขื่อนสิรินธรสร้างเสร็จ  น้ำก็ท่วมผืนป่าตามประสาเขื่อน ผืนป่ากลายเป็นทะเล  ป่าหนาดงเถื่อนที่ผู้คนเห็นเป็นที่ผีบ่ท่องคนบ่เทียวมาก่อนกลายเป็นเหมือนบ่ทองที่พายเรือเข้าไปได้ง่าย ๆ ปรากฏมีเกาะสวยงามอยู่ริมเขื่อนฝั่งตรงกันข้ามกับอำเภอสิรินธรและที่ทำการเขื่อน 

            ทุกวัน(ทุกคืนด้วย)ก็มีผู้แลเห็นป่าเป็นบ่ทองไปลักลอบตัดโค่นต้นไม้ไม่เว้นแต่ละวัน  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี(สายสิทธิ์  พรแก้ว)ไปกราบหลวงปู่และว่าขอยกเกาะสวยงามที่อาศัยของนกหนูปูปีกนี้ให้หลวงปู่  โห...ญาติโยมทั้งหลายต่างถอนหายใจสงสารหลวงปู่  สงสารพระสงฆ์องค์เจ้าจะต้องไปอยู่แดนกันดารท่ามกล่งป่าที่มีน้ำล้อมรอบ  พระจะต้องพายเรือข้ามน้ำกว้างใหญ่มาบิณฑบาต  ใครจะไปนึกว่าปัจจุบันเกาะแห่งนั้นเป็นวัดป่าที่สวยงามท่ามกลางธรรมชาติพงหนาป่าไม้ในเขื่อนสิรินธร

            นี่เป็นเพียงเสี้ยวของตำนานวัดป่าสายหลวงปู่ชาที่เราชาวอุบลราชธานีสามารถตะโกนได้อย่างภาคภูมิในในความโชคดีของเรา

            โชคที่มีหลวงปู่ชา  และวัดป่า

            เราจึงมีป่าธรรมชาติไว้เป็นมรดกของลูกหลานท่ามกลางสายธารทางเศรษฐกิจที่ไหลเชี่ยวพัดเป็นเกลียวท่วมท้นจนป่าป่นในทุกวันนี้

๐๐๐๐๐

 

 

Tags : ในคมขวาน1.กู่พระโกนาสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view