http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,276,866
Page Views16,603,487
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

บทบรรณาธิการ : วังน้ำเขียว สิทธิมนุษยชนบนกติกา ที่เลือกไม่ได้

บทบรรณาธิการ : วังน้ำเขียว  สิทธิมนุษยชนบนกติกา ที่เลือกไม่ได้

บทบรรณาธิการ : วังน้ำเขียว  สิทธิมนุษยชนบนกติกา ที่เลือกไม่ได้

                    บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์กระแสหลัก และสื่อทีวีกระแสหลัก โดยเฉพาะรายการคุณอสรพิษ เอ้ย คุณสรยุทธ "คนวังน้ำเขียวรุกป่า แย่งที่ทำกินกระทิง" นั้นเป็นวาทกรรมที่คนวังน้ำเขียวเลิกดูทีวีช่อง 3 โดยสิ้นเชิง คำถามคือสื่อกระแสหลักได้ให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของคนวังน้ำเขียวหรือไม่ รู้ไหมคนวังน้ำเขียวต้องตกอยู่ในชะตากรรม สิทธิมนุษยชนบนกติกา ที่เลือกไม่ได้ ครั้งนี้ คืออะไร 

              ปากเป็นพิษของสรยุทธ สื่อกระแสหลักที่ยะโสโอหัง(จัง....เอ๋ย) วันนี้ทำร้ายคนวังน้ำเขียวเพียงใด คุณรู้บ้างไหม อาศัยพื้นที่สื่อที่กว้างขวาง หากินบนความทุกข์ยากของผู้คนนั้น ผลกรรมวันนี้ อาจเห็นเพียงคุณรวยเป็นพันล้าน แต่วันหนึ่ง "กรรม"ที่คุณทำกับคนวังน้ำเขียวและคนอื่นๆ มันจะย้อนกลับไปหา คุณ หรือไม่ก็อาจจะ ครอบครัวของคุณ อุทาหรณ์เรื่องเช่นนี้มีตัวอย่างให้เห็นๆกันอยู่ 

              ผมเดินทางร่วมการตรวจสอบกับสื่อหลายสื่อ โดยมีเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำขบวน ได้รู้ ได้เห็น และได้ฟังจากปากของชาววังน้ำเขียวตั้งแต่รากหญ้าที่ต้องถากหญ้าปลูกผักกาดหอม จนถึงแม่ค้าพ่อขายในตลาดเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนสัพพีตีโยคุณทุกคน 

             "มันพูดมาได้ยังไง คนวังน้ำเขียวรุกป่าแย่งที่ทำกินกระทิง  มันรู้หรือเปล่าว่า เดิมไม่เคยมีกระทิงหรอก เขาเพาะเลี้ยงโดยองค์กรหนึ่ง แล้วก็ปล่อยเข้าป่า เพื่อให้ป่ามีสัตว์ป่าที่ชื่อว่ากระทิงไง" น้องคนสวยอวบอึ๋มเล่าให้ฟังด้วยความโกรธขึ้งสุดๆ

              ถ้าเป็นจริงอย่างที่น้องคนสวยกล่าว ก็นับว่าคนวังน้ำเขียวช่างชาญฉลาดที่เพาะเลี้ยงกระทิงเพิ่มความงดงามของป่าเขาแผงม้าได้สำเร็จ เฉกเช่นที่สิบสองปันนาเขาเลี้ยงนกยูงฝูงเป็นร้อยแล้วฝึกจนปล่อยให้บินออกมาเดินอวดนักท่องเที่ยวได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ  สุดยอด 

               คนวังน้ำเขียวน่าจะต่อยอดเพาะเลี้ยงให้มากอย่างกับเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไปเลย นักท่องเที่ยวจะได้แห่แหนกันมาดู มาถ่ายรูป และมาซึมซับบรรยากาศวังน้ำเขียว 

              แน่นอนว่าวันนี้ รีสอร์ท โรงแรม โฮมสเตย์ บังกาโล แม้แต่บ้านพักของอุทยานแห่งชาติและลานกางเต้นท์ ว่างเปล่าไปทั่ว แค่คนวังน้ำเขียวต้องตกอยู่ใน"คุก" กลางอากาศ

              อันดับที่ 1 เงื่อนไขการทำกินบนที่ดินสปก.4-01 ซึ่งมีกฎกติกาให้ผู้ถือครองต้องเป็นเกษตรกร ทำกินด้วยการเกษตรกรรมเท่านั้น และต้องปลูกต้นไม้ยืนต้น 20 % ของพื้นที่  แม้ทำไร่ทำสวนจนเจ๊งแล้วเจ๊งอีก ก็เปลี่ยนไปทำกินด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ มันคือสิทธิมนุษยชนบนกติกา ที่เลือกไม่ได้  

                 อันดับที่ 2 ต่อมา อุทยานแห่งชาติทับลาน ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน 80 หมู่บ้าน นั่นก็ด้วยความผิดพลาดของใครกันหรือแนวทางการจัดการอุทยานแห่งชาติมีหรือไม่ 

                  อันดับที่ 3 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ไม่มีแนวเขตแน่ชัด ป่าที่อ้างว่ามีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักนั้น ทำไมเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ปกป้องไม่ได้  ทำไม ทำไม มัวทำอะไรกันอยู่หรือ ละเลยมาตรา 157 หรือไม่

                 อันดับที่ 4  สื่อมวลชนกระแสหลัก ได้นำเสนอข่าวสารข้องมูลตรงตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ได้สื่อออกเป็นสองทางหรือทางเดียว หน้าที่สื่อควรนำข้อมูลที่เป็นจริงออกสู่สายตา มากกว่าวิ่งตามกระแสโดยไม่กลั่นกรอง

               เชื่อได้ไงกับคนข่าวที่หากินบนความทุกข์ของคนอื่น อำมาตย์ล่ะ สรยุทธกล้าแตะไหม  โน่นแน่จริงลองไปที่  เขายายเที่ยง เขาสอยดาว ดอยอินทนนท์ เฮ้ยๆ คุณหญิงพรทิพย์ คนดังเล่าไม่เห็นชื่อถูกตรวจสอบจับกุม  ฯลฯ  

                บนความสับสนของคำว่าวังน้ำเขียววันนี้ ผู้คนหวั่นวิตกตระหนกกันไปทุกหย่อมหญ้า พ่อค้าแม่ขายโยนเห็ดหอมสดๆ เห็ดญี่ปุ่นสดๆ องุ่นไร้เมล็ด ฯลฯ ทิ้งทุกวัน

               "นักท่องเที่ยวแวะมาเดินดู แล้วอีกคนก็สอดว่า อุ๊ย อย่าซื้อ พวกแย่งที่ทำกินกระทิง" แม่ค้าสาวใหญ่พูดเบาๆด้วยน้ำตาคลอเบ้า

               "ก็เลยต้องทิ้งทุกวัน เน่า ขายไม่ได้ กินหรือ กินกันจนเอียนแล้วค่ะ"

               "ให้ความเป็นธรรมกับคนวังน้ำเขียวด้วยนะคะ คนที่ปลูกผักก็ขายไม่ได้ ผักมันมีอายุ คนขายผลไม้ เห็ดหอม ก็ทิ้งกันทุกวัน เราเป็นแค่คนกลางที่ซื้อมาขาย มีแต่ตายกับตาย แล้วคนผลิตคนปลูกไม่ตายตามไปด้วยหรือคะ"

                ผมเดินเข้าไปรีสอร์ทแห่งหนึ่ง นั่งมองบรรยากาศไปรอบๆ รีสอร์ทนี้ในอดีตเคยรุ่งเรืองมากๆ ผู้คนล้นหลาม แต่วันนั้น เงียบสนิท 

                "80 ห้องก็มีลูกค้าเก่าๆที่โทรมาถามก่อน อยู่สัก 8 ห้อง" พูดแล้วเสียงก็แผ่วหายไปในลำคอ น้ำตารื้นขึ้นมาปริ่มๆ

               "แต่ก็ยังดี ยังได้เลี้ยงลูกน้องพนักงานกว่า 10 คนให้ทำงานไปเรื่อยๆ ให้ออกเขาก็อด"                ฟังแล้วก็สะท้อนใจ เกิดอะไรขึ้นกับบริบทการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชนกระแสหลัก และนักท่องเที่ยวที่เชื่อและหลงง่าย ไม่เชื่อโบราณซะบ้างเลย ฟังหูไว้หู มันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้ และมันต้องมีคนทำถูกและคนทำผิด โดยเฉพาะคนที่เป็นพวก ขุนพลอยพยัก ทายทักอะไรตามใจนายจนเกิดผลเสียมากกว่าผลดี 

     

                "หากอุทยานแห่งชาติใดไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีเจตนาจงใจ ปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ต่อไป"

                บันทึกสั่งการฉบับนี้ ลงนามโดย นายนิพนธิ์ โชติบาล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สั่งการตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ทส 0910.803/23516 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2553 เมื่อวันที่ 17 มิย2554  นายโชต ตราชู ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการคนก่อน สส.สอบตกยกพรรค จังหวัดขอนแก่น นายสุวิทย์ คุณกิตติ เห็นชอบตามเสนอ หรือว่า บันทึกสั่งการ ข่มขู่ และไล่บี้ ชาวบ้าน จนแตกกระเจิง 

                 น่าเห็นใจหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่เป็นหนังหน้าไฟ

                 ขอร้องพี่น้องชาววังน้ำเขียว โปรดพินิจให้ดี

                 ก่อนที่จะทำอะไรจนเกิดความยุ่งยากมากขึ้น

                 หนทางย่อมมีทางแก้ไข

                 น่าพิศวง  ในหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากล หากมีการพิจารณาแล้วประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์แบบใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน นั้น

    

                     แผนที่แสดงจำนวนหมู่บ้าน 80 หมู่บ้านในอุทยานแห่งชาติทับลาน

                 ถ้ามีชุมชนอยู่หนาแน่นถึง 80 หมู่บ้าน ประชากร 43,477 คน และบางหมู่บ้านอยู่ในเงื่อนไขเรื่องความมั่นคง(ไทยสามัคคี)อีกต่างหาก หนทางที่ควรต้องทำคือ

                 1. กันพื้นที่หมู่บ้าน 80 หมู่บ้านออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เช่นกรณีอช.ทับลาน 173,242 ไร่ อช.เขาใหญ่ 12,500 ไร่  รวมเป็นพื้นที่ 188,742 ไร่ เสียตั้งแต่แรกก่อนการประกาศทับพื้นที่หมู่บ้าน  ทำไมไม่ทำ ก็เห็นอยู่โท่นโท่คาตา

                  2. เมื่อประกาศไปแล้ว ก็สามารถประกาศพระราชกฤษฎีกา เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่ง 188,742 ไร่ กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติใหม่ที่เรียกกันว่า การปรับปรุงแนวเขต(Re-shape) ซึ่งอาจเพิ่มหรือลดพื้นที่อุทยานฯก็ได้  แล้วให้ฝ่ายปกครองบริหารจัดการไปตามกระบวนการราชการ

                  3. ถ้าตามหลักวิชาการที่เข้มข้น ว่าพื้นที่ผืนนี้ มีความสำคัญต้องปกป้องเป็นป่าต้นน้ำหรือป่าอนุรักษ์ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด   ที่จะต้องอพยพคนออกจากพื้นที่ตั้งแต่แรกประกาศเขต แล้วจัดหาที่อยู่และที่ดินทำกินรองรับการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่(Resettlement) เช่นเดียวกับเขาใหญ่ และห้วยขาแข้ง ที่เคยดำเนินการตามหลักการเสียแต่แรกตั้ง  ปัญหาจาก"ดินพอกหางหมู"ก็คงจะไม่เกิดขึ้นเช่นทุกวันนี้

                  ทฤษฎี ปัดฝุ่นเข้าใต้พรม เป็นที่นิยมมากในแวดวงราชการและการเมืองไทย ทฤษฎี ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ก็กำลังได้รับความนิยม เพื่อวางกับดัก ให้รัฐบาลต่อไปปวดเศียรเวียนเกล้า กฎหมายมีเหตุมีผลต่อความเป็นธรรมเสมอ ดี  แต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เลว ก็ทำให้บ้านเมืองและประชาชนยุ่งยากลำบากกันไปทั่ว

                เรื่องราวของวังน้ำเขียวมีอีกหลากหลายบริบทที่ต้องกำหนดแนวทางแก้ไข ในฐานะที่เคยเกือบจะต้องมาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อปีพ.ศ.2542 ขอเรียนว่า

                ต้นไม้พิษย่อมออกผลเป็นพิษฉันใด การประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติโดยมิได้ยึดหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากลฉันใด  ก็ย่อมเกิดผลเป็นความยุ่งยากฉันนั้น 

                 ธงชัย เปาอินทร์

                      บก.บริหาร

อดีตข้าราชการกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ

----------------------------------------------------------------------------------------------------

              เพื่อความเป็นธรรมในสังคม

จึงใคร่ขอนำแถลงการณ์ของชาววังน้ำเขียวลงไว้ให้สาธารณชนได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ อะไรคือความจริง

              

แถลงการณ์ของชาวอำเภอวังน้ำเขียว ฉบับที่ ๑

              จากกรณีการให้ข่าวของนายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าพื้นที่วังน้ำเขียวทั้งหมด ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยว แต่เหมาะสำหรับสัตว์ป่าอาศัยเป็นที่อยู่ของกระทิงและมีปัญหาบุกรุกตัดไม้กับพื้นที่สร้างรีสอร์ทในอำเภอวังน้ำเขียว ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในอำเภอปักธงชัยและตัวเมืองโคราชปีที่แล้ว
              นายสุวิทย์   รัตนมณี   อธิบดีกรมป่าไม้   กล่าวว่าที่ผ่านมาเหตุการณ์น้ำท่วม อำเภอปักธงชัย และปากช่อง จ.นครราชสีมา ส่งผลกระทบกับประชาชนก็เพราะผืนป่าวังน้ำเขียวที่เป็นแหล่งต้นน้ำถูกบุกรุกทำให้สูญเสียพื้นที่ ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน

              นายเทวินทร์   มีทรัพย์    หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน   กล่าวว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมต่างด้าวและกลุ่มนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อสิทธิในที่ดิน จะมีพวกบรรดานักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายหน้าค้าที่ดิน ไปหลอกชาวบ้านให้ออกมาชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่ เพื่อขอสิทธิทำกิน

              และการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เช่น   ยึดคืนผืนป่าวังน้ำเขียว        คนวังน้ำเขียวบุกรุกที่อุทยาน วังน้ำเขียวเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่ของกระทิง   น้ำท่วมปักธงชัยและโคราชเนื่องจากคนวังน้ำเขียวทำลายป่า   การนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องโดยขาดข้อเท็จจริง
              อำเภอวังน้ำเขียวจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน  2535  มีขนาดพื้นที่ 706,243  ไร่  แบ่งการปกครอง 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน การตั้งถิ่นฐานของชาวอำเภอวังน้ำเขียวเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2490 หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายการสัมปทานป่าไม้ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐจึงทำให้พื้นป่าวังน้ำเขียวแปรสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น  โดยไม่มีมาตรการใดๆ  จนกระทั่งปี 2530 ได้มีภาคเอกชนและองค์กรชุมชนเข้ามาดำเนินฟื้นฟูพื้นป่าจากชุมชนบ้านท่าวังไทร ปี 2537 ดำเนินการฟื้นฟูป่าเขาแผงม้า และในปี 2540 ฟื้นฟูป่าต้นน้ำมูลและมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรในการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นป่าวังน้ำเขียว จึงทำให้เกิดสภาพพื้นป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นบางส่วน   ทำให้สัตว์ป่า เช่น กระทิงกลับมา เกิดการประชาสัมพันธ์ให้มีคนรู้จักเขาแผงม้า และอำเภอวังน้ำเขียวทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ จากสถานการณ์การเปลี่ยงแปลงดังกล่าวทำให้คนวังน้ำเขียวได้ปรับวิถีชีวิตการเกษตรการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสานปลอดสารพิษทำให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมากมาย  จนเกิดนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐและท้องถิ่น  ภายในระยะเวลา 30 ปี  ของการพัฒนาพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ดังนั้นการที่สื่อมวลชนและอธิบดีกรมป่าไม้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้เสนอข่าวเรื่องการบุกรุกพื้นที่อุทยานโดยมีข้อมูลดังนี้

-       นโยบายสัมปทานป่าไม้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ       
7 ตุลาคม 2502 ประกาศอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

-          2507 พรบ.ป่าสงวน(ป่าสงวนเขาภูหลวง 2516)

-          2521 สำนักงานปฏิรูปที่ดินประกาศเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

-          2519-2523 กระบวนการรัฐอพยพชาวบ้านเรื่องความมั่นคงภายในนโยบาย 66/23

-       กองอำนวยการเพื่อความมั่นคงภายในกองทับภาคที่ 2 ขออนุญาตใช้พื้นที่ภายในอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อ พ.ศ. 2525 เพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อความมั่นคงดำเนินการจัดที่ดินทำกิน   ที่อยู่อาศัย  ในรูปของหมู่บ้านป่าไม้ตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ. ) ท้องที่อำเภอเสิงสาง  และอำเภอ ครบุรี  จังหวัดนครราชสีมา  จนถึงพ.ศ. 2543  ได้เสนอกรมป่าไม้  ให้พิจารณาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

-          23 ธันวาคม 2524 การประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน

-       ได้มีคำสั่งที่ 6596 /2537 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรบ้านซับเต่าหมู่ที่ 10 ตำบลอุดมอุดมทรัพย์  อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  ซึ่งคณะทำงานมีมติให้กันพื้นที่  ออกจากอุทยานแห่งชาติทับลานเนื้อที่ประมาณ 15,000 ไร่และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการป้องกันประจำจังหวัดนครราชสีมาและคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแล้ว

-       คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้จังหวัดนครราชสีมา  ได้มีคำสั่งที่ 4010 /2538 ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2538 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร   ในรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานท้องที่อำเภอวังน้ำเขียวจังหวัดนครราชสีมา   ผลการปฏิบัติงานคณะทำงานมีมติเสนอให้กันพื้นที่จำนวน 7 จุด เนื้อที่ประมาณ 6,135 ไร่ ออกจากอุทยานแห่งชาติทับลานและผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการป้องกันประจำจังหวัดนครราชสีมา

-       22 เมษายน พ.ศ.2540 ครม.สรรจรที่อำเภอวังน้ำเขียว เห็นชอบให้ปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่ได้ดำเนินการกันพื้นที่ไว้แล้วในเขตอำเภอวังน้ำเขียวจำนวน 8 จุด  เนื้อที่ประมาณ 21,135ไร่

-       11 มกราคม  พ.ศ. 2543 คำสั่งกรมป่าไม้ที่ 44 / 2543 ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดการแนวเขตซึ่งประกอบไปด้วย   ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นายอำเภอหน่วยงานในพื้นที่และผู้นำชุมชนให้มีการสำรวจกำหนดแนวเขตพื้นที่ให้ชัดเจน

-    2545-2554 นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภาครัฐและท้องถิ่น ส่งผลกระทบวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวส่งผลให้มีสถานประกอบการบ้านพักและธุรกิจท่องเที่ยวมากมาย

จากสถานการณ์และข้อเท็จจริงดังกล่าว      ทำให้คนในสังคมทั้งประเทศมองภาพลบ
ของคนวังน้ำเขียวเป็นผู้บุกรุกป่าแล้วทำลายสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นชาวอำเภอวังน้ำเขียวจึงขอแถลงการณ์ให้สังคมรับทราบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอดังนี้

  1. ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข่าว หยุดการให้ข่าวโดยขาดข้อเท็จจริงในพื้นที่
  2. ให้หยุดดำเนินการใดๆข้อกฎหมายคนในพื้นที่จนกว่าจะมีนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนจากรัฐบาล
  3. ให้มีการประกาศกฤษฎีการเบิกถอนพื้นที่ทับซ้อนชุมชนจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524  จำนวน 15 ตำบล 76  หมู่บ้าน  โดยยึดหลักแนวเขตที่มีข้อตกลงร่วมกัน ปี 2543

และให้มีการทบทวนจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ ที่จะผนวกเข้าเป็นพื้นที่อุทยานทับลาน

  1. ให้มีคณะกรรมการร่วมกำหนดแนวเขตโซน C ป่าสงวนเขาภูหลวง ให้ชัดเจนโดยมีข้อตกลงการจัดการพื้นที่ร่วมกันทุกภาคส่วนตามสภาพความเป็นจริง
  2. ให้มีการวางแผนผังจัดโซนนิ่งการจัดการพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวร่วมกันทุกภาคส่วน
  3. ให้มีนโยบายกำหนดอำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่พิเศษการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

(เพื่อปกป้องและรักษาศักดิ์ศรีของคนวังน้ำเขียวที่ถูกประณามว่าเป็นผู้บุกรุกและทำลายป่า

จึงขอให้ชาวอำเภอวังน้ำเขียวทุกคนมาแสดงพลังร่วมกันในเวลา 4 โมงเย็น- 3 ทุ่ม ของทุกวันเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป จนกว่าผู้ที่นำเสนอข่าวจะออกมารับผิดชอบต่อการให้ข่าวและดำเนินคดีทางกฎหมาย และผู้บริหารของรัฐบาลระดับนโยบายมารับขอเสนอจากชาวอำเภอวังน้ำเขียว) 

คำพูดที่ชาววังน้ำเขียวถูกประณาม

-         นายเทวินทร์   มีทรัพย์    หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน 

พูดว่า     “เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมต่างด้าวและกลุ่มนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อสิทธิในที่ดิน จะมีพวกบรรดานักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายหน้าค้าที่ดิน ไปหลอกชาวบ้านให้ออกมาชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่ เพื่อขอสิทธิทำกิน”
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 กรกฎาคม 54

-         นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานฯ

พูดว่า “มีปัญหาบุกรุกตัดไม้กับพื้นที่สร้างรีสอร์ทในอำเภอวังน้ำเขียวทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในอำเภอปักธงชัยและตัวเมืองโคราชปีที่แล้ว”

จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 กรกฎาคม 54

-         นายสุวิทย์   รัตนมณี   อธิบดีกรมป่าไม้  

พูดว่า “ที่ผ่านมาเหตุการณ์น้ำท่วม อำเภอปักธงชัย  และปากช่อง

จ.นครราชสีมา ส่งผลกระทบกับประชาชนก็เพราะผืนป่าวังน้ำเขียวที่เป็นแหล่งต้นน้ำถูกบุกรุกทำให้สูญเสียพื้นที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน”
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 กรกฎาคม 54

-         นายสุนันต์   อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานฯ

พูดว่า     “พื้นที่วังน้ำเขียวทั้งหมด ผมเห็นว่าไม่เหมาะกับการท่องเที่ยว แต่เหมาะสำหรับสัตว์ป่าอาศัยเป็นที่อยู่ของกระทิง ผมว่าหลายคนคิดไปเองและโฆษณาชวนเชื่อว่า  “วังน้ำเขียวเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของเมืองไทย ”
จากหนังสือพิมพ์มติชนและวันที่ 24 กรกฎาคม 54

   

 

                  

 

                

             

Tags : โชคดีที่มีวังน้ำเขียวให้หลบร้อนไปนอนภู ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view