ท่องแดนแผ่นดินธรรม
วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ปีพ.ศ.2512 ผมไปฝึกงานภาคสนามที่สถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ อำเภองาว จังหวัดลำปาง วันหยุดเสาร์-อาทิตย์คือเวลาทอง คนป่าได้เข้าเมืองศิวิไลซ์สักครั้ง แต่ครั้งหนึ่งพวกเราชวนกันไปเที่ยวเทศกาลงานประเพณีไหว้สาพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน แต่ด้วยเกร็ดความรู้เรื่องเจ้าแม่จามเทวี ทำให้พวกเราได้ไปเที่ยวจนถึงวัดจามเทวี ก็งั้นแหละ คนหนุ่ม ทำไปทำมาก็ไปกันจนถึงอำเภอป่าซางแดนสาวงามตามทำนองเพลงของนักร้องชายขวัญใจขณะนั้น ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องเพลงเดือนหงายที่ป่าซาง ช่างหวานซึ้งตรึงใจจนฝันใฝ่ว่าสักวันจะได้ไปเยือน ท่อนสุดท้ายของเพลงว่า
เมืองแมนในฝันนั้นคือป่าซาง แลดูอ้างว้างไร้นางแนบขวัญ อยู่เดียวเปลี่ยวเหงา ขอเอาอกน้อยไว้คอยรักมั่น จวบนางในฝันนั้นมาพะนอ
วันเวลาที่เปลี่ยนเวียนไป จากหนุ่มน้อยวันนั้นกลายเป็นชายชราที่ยังกล้าแกร่งเดิน สะพายกล้องท่องไปทั่วถิ่นแคว้นแดนใดๆ วัดจามเทวี อดีตที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจผู้คนชนลำพูน ที่วัดแห่งนี้ล้วนมีแต่ความหลังครั้งอดีตที่น่าศึกษาค้นคว้า ไม่ถึงกับใฝ่ธรรมปฏิบัติแต่ใฝ่รู้เรื่องราวแต่หนหลัง ค้นและคัดออกมาเผยแพร่สู่อนุชนรุ่นหลัง ลองมาติดตามเรื่องราวกันดู น่าไปไหม
พระนางจามเทวีเป็นราชธิดาจากละโว้นคร(ลพบุรี) ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งนครลำพูน พระนางมีพระราชโอรส 2 พระองค์ และในปีพ.ศ.1204 พระนางจามเทวีได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตรีย์วงศ์จามเทวีแห่งนครหริภุญชัย เมื่อทรงพระชนมายุ 20 พรรษา
พระราชโอรสองค์โต นาม มหายศ(มหันตยศ) องค์รอง นามว่า อินทวร(อนันตยศ) ซึ่งต่อมาพระเจ้ามหันตยศทรงขึ้นครองนครหริภุญชัยสืบต่อจากพระมารดา ส่วนพระเจ้าอนันตยศได้เสด็จไปครองนครลำปาง(เขลางค์นคร) ครั้นพระนางจามเทวีทรงสละราชสมบัติทุกอย่าง ให้พระโอรสเมื่อพระชนมายุ 60 พรรษา โดยพระนางออกบวชชีบำเพ็ญพรตอยู่ที่วัดจามเทวีแห่งนี้
ลุล่วงถึงปี พ.ศ.1276 พระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต ขณะทรงพระชนมายุ 92 พรรษา พระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ ได้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงภายในวัดดังกล่าวอย่างสมพระเกียรติ และได้สร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมบรรจุพระอัฐิของพระนางไว้ ณ ที่นี้ โดยให้ชื่อเจดีย์ว่า สุวรรณจังโกฎเจดีย์ แต่เมื่อเวลาล่วงไปนับพันปี เจดีย์ก็ชำรุด ยอดเจดีย์หัก และร้างไปในที่สุด ชาวบ้านรุ่นหลังๆจึงเรียกว่าวัดกู่กุด(เจดีย์ยอดด้วน)
พ.ศ.2469 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เดินทางไปเยี่ยมวัดแห่งนี้ จึงได้ให้เปลี่ยนชื่อจาก วัดกู่กุด เป็น วัดจามเทวี ดังเดิม พ.ศ.2479 พระเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนได้ไปนิมนต์ท่านครูบาศรีวิชัย ช่วยบูรณะวัดจามเทวีอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมาวัดจามเทวี ก็เจริญรุ่งเรืองสืบมา
รูปทรงเจดีย์ จากส่วนฐานทรงสี่เหลี่ยมมาเป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม ตั้งซ้อนกันลดขนาดเป็นลำดับขึ้นไป 5 ขั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ประดับทิศทั้งสี่ และด้านทั้งสี่ของแต่ละชั้น มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ และยอดแหลมที่หักหายไปน่าจะเป็นรูปกรวยเหลี่ยมร่องรอยความชำรุดปรักหักพังเห็นได้ทั่วองค์เจดีย์
สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ประดิษฐานอยู่เบื้องหลังวิหาร เมื่อเข้าจากประตูวัดจึงได้เดินเข้ากราบสักการะในทันที ส่วนพิพิธภัณฑสถานของครูบาศรีวิชัยนั้นเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว เดินชมได้ถึง 3 ห้อง แต่ละห้องมีรูปภาพและเรื่องเล่าบรรยายให้ได้ความรู้และทึ่งในบุญญาธิการของครูบาผู้บำรุงพระศาสนาไปทั่วล้านนา
ต้นแบบเจดีย์สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ ยังไปปรากฏทั่วล้านนา กลายเป็นศิลปะร่วมสมัยของเจ้าแม่จามเทวี แม้กระทั่งที่จังหวัดน่าน ก็ปรากฏให้เห็นด้วย
ความสุขของการได้ท่องแดนแผ่นดินธรรมคือการได้เข้าไปกราบโบราณสถานสำคัญ พระพุทธรูปในอุโบสถและวิหาร ตลอดจนศึกษาเรียนรู้เรื่องราวแต่หนหลัง เป็นกำไรชีวิต หนุ่มน้อยผู้หลงใหลแม้ในเสียงเพลง เดือนหงายที่ป่าซางวันนั้น วันนี้เปลี่ยนไปแล้วจ้า หลงใหลในแดนธรรมแผ่นดินพระพุทธศาสนา