ไหมอีรี่..ทางเลือกใหม่ของวงการไหมไทยหรือชาวไร่มันสำปะหลัง
#ไหมไทย,#Thai silk,#Eri silk,#มันสำปะหลัง,#สกว.
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
กว่า 4,000 ปีที่ชาวจีนและอินเดีย รู้จักการสาวใยไหมจากหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิด Bombyx mori Linnaeus,1758 วงศ์ BOMBYCIDAE มาใช้ประโยชน์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นจนถึงการพัฒนาเป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับราชวงศ์ของจีนและชนชั้นสูง โดยมีต้นหม่อนขาว ชนิด Morus alba Linn อยู่ในวงศ์ MORACEAE เรียกสั้นๆว่า Mulberry Tree
ต่อมาชาวจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ได้นำไหมป่าชนิด Philosamia ricini Drury,1773 วงศ์ SATURNIIDAE มาเลี้ยงเพื่อการใช้ประโยชน์จากรังไหมและสามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี ได้ใยไหมที่แตกต่างไปจากไหมจากต้นหม่อน แต่มีคุณสมบัติดีเลิศและได้รับความนิยมมากขึ้น
ผีเสื้อกลางคืนและไข่ไหมอีรี่
ปีพ.ศ. 2517 กรมวิชาการเกษตร ได้นำไหมอีรี่มาทำการทดลองเลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลังและละหุ่ง แล้วก็เลือนหายไปกับกระแสไหมหม่อน
ปีพ.ศ. 2533 ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำไหมอีรี่ไปส่งเสริมให้กับชาวไร่มันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปลูกมันสำปะหลังกันในปริมาณที่มากกว่าภาคใดๆ
ศ.ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรมและผศ.ดร.อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์
ปีพ.ศ. 2535 ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรม และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการศึกษาและวิจัยพบว่า การเด็ดใบมันสำปะหลัง 30%มาเลี้ยงไหมอีรี่นั้นส่งผลทำให้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสูงขึ้น ถ้าเด็ดมากถึง 50% ผลผลิตหัวมันสำปะหลังลดลง การวิจัยทำให้รู้ผลได้ผลเสียของการปฏิบัติ
ไหมอีรี่ เส้นใยสั้น เป็นมันวาว
ปีพ.ศ. 2546 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ได้สนับสนุนชุดโครงการ”การพัฒนาไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรม” และได้ให้ทุนสนับสนุนจนถึงปีพ.ศ.2559 รวมเวลาถึง 14 ปี ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการผลิตไหมอีรี่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี่สะอาด และสามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงในกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายผู้เลี้ยงไหมอีรี่
ผลที่ตามมาสู่เกษตรกรคือ มีถึง 5 รายได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคุณค่าของไหมอีรี่ที่ได้รับความเชื่อถือและนิยมมากขึ้น ราคาของผลิตภัณฑ์ก็พลอยสูงขึ้น แถมยังจูงใจให้เกษตรกรอีกจำนวนมากหันมาสนใจการเลี้ยงไหมอีรี่
ไหมอีรี่ดีอย่างไรกันเชียวหรือ ถึงเกิดการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาถึง 14 ปี มูลเหตุสำคัญประการแรกเลยที่เดียวคือ เกษตรกรในประเทศไทยปลูกมันสำปะหลังมากถึง 570,000 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ไร่มันสำปะหลังถึง 8,640,000 ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2559) ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
ตัวไหมอีรี่ เป็นไหมพันธุ์ใหม่ที่กินใบมันสำปะหลังและใบละหุ่งเป็นอาหาร วงจรชีวิตไหมอีรี่ 45-60 วัน ในหนึ่งปีสามารถเลี้ยงได้ 4-5 รุ่น ไข่ไหมอีรี่สามารถฟักเองได้โดยไม่ต้องทำการเพาะเทียม ในจำนวนไหมอีรี่ 20,000 ตัวต่อครอบครัว มันกินใบมันสำปะหลัง 600-700 กก.ซึ่งเกษตรกรสามารถเก็บใบมัน 30%ได้ในพื้นที่แค่ 2 ไร่
เส้นใยไหมอีรี่ มีคุณสมบัติดีเลิศประเสริฐศรี คือ เส้นใยสั้น มีเนื้อฟู หนานุ่ม และหยิกงอ เหมาะแก่การทำไหมปั่น ถักทอเป็นผ้าผืนหรือผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ประการสำคัญสามารถย้อมติดสีธรรมชาติได้ดี ปลอดภัยต่อทั้ง ผู้ย้อม ผู้ผลิต ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ และสภาพแวดล้อม ไหมอีรี่ยังสามารถปั่นด้วยเครื่องปั่นมือ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ชดโช้!!
สกว.สนับสนุนให้เกิดการสร้างโรงเรือนต้นแบบการเลี้ยงไหม การลอกกาวไหม และการย้อมสีรังหรือเส้นใยไหมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถึง 5 จังหวัดคือ อุทัยธานี นครสวรรค์ ลำปาง เชียงใหม่ และเชียงราย พัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เกิดเครือข่ายและผู้นำเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ที่เข้มแข็งถึง 41 เครือข่าย จำนวนกว่า 450 ครัวเรือน ครอบคลุม 28 จังหวัดดังนี้คือ
การปั่นไหมอีรี่และการย้อมด้วยสีธรรมชาติ
เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ ตาก อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร กาญจนบุรี นครปฐม ระยอง ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ อุดรธานี หมาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ หนองคาย อุบลราชธานี และสระแก้ว
เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายรังไหมและดักแด้ประมาณ 6,000 บาท/รุ่น เกษตรกรผู้สามารถปั่นเส้นด้ายขาย 7,800 บาท/รุ่น และรายได้จากการทอผ้าขายรุ่นละ 17,000 บาท เกิดการสร้างงานและอาชีพสิ่งทอทั้งในเชิงหัตถกรรมและหัตถอุตสาหกรรมในระดับชุมชน ผู้เพาะเลี้ยงไหม ผู้รับจ้างเก็บพืชอาหาร ฯลฯ
ได้อยู่บ้าน ทำงานกับครอบครัว มีชีวิตที่อบอุ่นและค่าดัชนีแห่งความสุข สูงขึ้น
อุปกรณ์การปั่นไหม
ผลิตภัณฑ์จากดักแด้ไหมอีรี่
ตลาด มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถขยายพื้นที่เลี้ยงไหมอีรี่ได้อีกมากอันเป็นปฏิสัมพันธ์กับปริมาณไร่มันสำปะหลัง สามารถขายส่งรังไหมให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ด้วยศักยภาพชุมชนได้ตามปรารถนา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น สกว.ควรส่งเสริมสนับสนุนให้ทุนเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ค่าดัชนีการตลาดไหม
ควรต้องให้ทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่จะเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยหรือไม่ เพราะว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องผ้าอาจมีจำกัดแต่ถ้านักคิดและนักออกแบบที่แตกต่าง อาจสร้างงานที่ทรงคุณค่าแก่การส่งเสริมแก่ทั้งเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม ได้ต่อไป โดยเฉพาะทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด คือหัวใจของการค้า
ที่สุด การพัฒนาดักแด้ไหมอีรี่ มีผลผลิตที่จับต้องได้ ดังที่เห็นในภาพ แต่นั่นก็เพียงน้อยนิด ดักแด้ไหมอีรี่จึงน่าจะได้รับการพัฒนาที่เกิดมรรคผลแก่สังคมมนุษย์ เพิ่มมูลค่าผลผลิตได้เป็นตัวเงินแก่ผู้เลี้ยง ดักแด้ไหมอีรี่จึงยังเป็นส่วนหนึ่งของไหมอีรี่ที่ต้องทำการศึกษาและวิจัยต่อไปเพื่อให้สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าแก่เกษตรกร
กินใบมันสำปะหลัง
สกว.โดยการนำของรศ.ดร.ประภาพร ซอไพบูลย์ ผอ.ฝ่ายเกษตร คุณวรรณภรณ์ จันทร์หอม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการฝ่ายเกษตร คุณธนชัย แสงจันทร์ และคุณวรรณสม สีสังข์ เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม ได้นำคณะสื่อมวลชน(สื่อภาพทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อเสียงวิทยุ)ไปยังศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
กินใบละหุ่ง
ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ให้ความรู้เกี่ยวกับไหมอีรี่อย่างดีเลิศ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านไหมอีรี่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ นิลเพชร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ พรหมบุญ นักวิจัยร่วมโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ราตรี วงศ์ปัญญา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และคุณพรพนา เอี่ยมทิพย์ จนท.โครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิชาการไหม
นอกจากนี้ยังมีคุณ นิตยา มหาไชยวงศ์และคุณเจิมขวัญ ศรีสวัสดิ์ ศูนย์วิชาการและเทคโนโลยี่สิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมขบวนด้วย เพื่อร่วมเดินทางไปชม
การศึกษาและดูงาน กลุ่มเลี้ยงไหมอีรี่จำปีขาว บ้านทัพคล้าย ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งมีนางขวัญเรือน จำปีขาว เป็นประธานกลุ่ม ติดตามระบบการเลี้ยง การลอกกาว การปั่นไหม การทอผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์
สิ้นสุดที่ การศึกษาและดูงานที่บริษัท สปัน ซิลค์ เวิลด์ จำกัด อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นำโดย ดร.ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์ กรรมการผู้จัดการ และดร.ปณิธาน คิวเจริญวงศ์ ได้นำสื่อมวลชนเข้าไปในโรงงานเพื่อให้เห็นขบวนการผลิตเส้นไหมจากรังไหมอีรี่ครบวงจร และถ่ายรูปหมู่เพื่อการจดจำที่ดี