http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,367,670
Page Views16,699,217
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ต้นไม้ยูคาลิปตัส ต้นไม้สะสมทรัพย์

ต้นไม้ยูคาลิปตัส ต้นไม้สะสมทรัพย์

ต้นไม้ยูคาลิปตัส ต้นไม้สะสมทรัพย์

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ริมคลองชลประทานและถนนสัญจร

            ภาพในอดีตของต้นไม้ชื่อยูคาลิปตัส ถูกสื่อมวลชนประโคมข่าวจนกลายเป็นต้นไม้ปีศาจ วันนี้ ผมตามคุณ ณรงค์ มีนวล ผู้จัดการสวนป่ายั่งยืนและคุณ ราเชนทร์ พรหมจรรย์ ผู้จัดการ แผนกส่งเสริมและจัดหาไม้ ตะวันตก บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ไปชมผลงานในพื้นที่ จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี เพียงบางส่วน กลับพบว่า ไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้สะสมทรัพย์ของชาวบ้านผู้เป็นเกษตรกรไปเสียแล้ว


สองข้างทางก็ปลูกข้างละ 2 แถวระยะ1x1เมตร แบบสลับฟันปลา lสายพันธุ์ H4

          บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ตั้งอยู่ถนนแสงชูโต ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี 71130 สังกัดบริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด(มหาชน) ถนนปูนซีเมนต์ไทย แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800 พันธกิจสำคัญของบริษัทสยามฟอเรสทรีจำกัดคือ การศึกษาและวิจัยเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ไม้ยูคาลิปตัสอย่างน้อยปีละ 2 สายพันธุ์ เพื่อใช้ในการเพาะชำกล้าไม้ในแต่ละปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปลูกไม้ยูคาลิปตัสทั่วประเทศ และรับซื้อไม้คืนในราคาประกันอย่างยุติธรรม แน่นอนว่า ต้องใช้นักวิชาการป่าไม้จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของบริษัท  


            ผู้จัดการสวนป่ายั่งยืน คุณณรงค์ มีนวล จบ วนศาสตร์ รุ่น 54 เล่าให้ฟังว่า ในแต่ละปี บริษัทสยามฟอเรสทรีจำกัดต้องจัดหาวัตถุดิบเป็นไม้ยูคาลิปตัสปีละ 3,000,000 ตัน เทียบได้กับปริมาณเป็นพื้นที่ก็ต้องมีสวนป่าต้นยูคาลิปตัสถึงปีละ 300,000 ไร่ แรกๆทีเดียวก็รับซื้อหมดแหละ ไม่ว่าจะเป็นไม้ยูคาลิปตัสขนาดไหน มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ต้องหาป้อนโรงงานเพื่อผลิตให้พอเพียงกับกำลังผลิตของโรงงาน  


            บริษัทสยามฟอเรสทรีจำกัด จึงจำแนกให้มีผู้จัดการแผนกส่งเสริมและจัดหาไม้  กระจายเป็นพื้นที่ให้แต่ละส่วนรับผิดชอบ(compartment) เช่นจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และสุพรรณบุรี ในพื้นที่ดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ คุณราเชนทร์ พรหมจรรย์ จบวนศาสตร์ รุ่น 68 เป็นผู้จัดการในพื้นที่ ภารกิจคือต้องหาสมาชิกมาร่วมปลูกป่าไม้ยูคาลิปตัสให้ได้มากเท่าที่จะทำได้  ส่วนแผนกเพาะชำกล้าไม้และปรับปรุงสายพันธุ์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกจากกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน

            “ยูคาลิปตัสลูกผสมสายพันธุ์ดี คือ ปลูกง่ายในดินทุกสภาพ อัตราการเจริญเติบโตดีภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 5 ปี ให้เยื่อใยสั้นในปริมาณหนาแน่น ปลอดโรคและแมลงรบกวน” 


ยูคาลิปตัส สายพันธุ์ H4 บนคันนาที่ชาวบเานซื้อกล้าปลูกเอง

            เดิมทีเดียว ผมก็เป็นนักวิชาการป่าไม้ที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้มาก่อน จะมีน้องๆทยอยกันเข้ามาทำงานด้วย บางคนไม่ชอบก็ลาออกไป บางคนชอบเป็นข้าราชการสังกัดกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พอสอบบรรจุได้ก็ไป  ที่เหลืออยู่จึงเป็นกำลังหลักของบริษัท ไม่มีอำนาจราชศักดิ์มีแต่มือสิบนิ้วประนมไปทั่วทิศ ทุกระดับชั้นที่ต้องเกี่ยวข้อง


รายย่อยที่ปลูกตามหัวไร่ปลายนา ตัดไปแล้ว 2 ครั้ง

            พื้นที่เดิมของ 4 จังหวัดนี้ ผมขอเล่าก่อนที่จะส่งต่อให้คุณราเชนทร์ว่า เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกอ้อยเป็นพื้น มันสำปะหลังเป็นรอง  ลักษณะของเกษตรกรพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะและมีอิทธิพล พื้นที่แปลงเกษตรกรรมของเขาเหล่านั้นเป็นผืนใหญ่ๆและก็มักจะเป็นพื้นที่ที่ดินค่อนข้างดี


รายใหญ่ทำอะไรตามใจชอบ เจ้านี้ปลูกเพื่อทำไม้ซุงท่อนขาย

            ส่วนพื้นที่การเกษตรอีกส่วนหนึ่งจะเป็นรายย่อย เรียกว่าเป็นผู้ไม่มีอิทธิพล สถานภาพค่อนข้างยากจน จนถึงยากจนจริงๆ  ผมขอเรียกว่า เกษตรกรรายย่อยหรือชาวบ้านนั่นละครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำไร่ในพื้นที่ที่ทำนาไม่ได้ เรื่องทำสวนผลไม้ในพื้นที่เขตนี้ค่อนข้างด้อยกว่าเขตอื่นๆครับ  เพราะสภาพภูมิประเทศดั้งเดิมเป็นป่าที่ราบต่ำ ป่าเบญจพรรณและบางส่วนเป็นป่าเต็งรัง ดินตื้นจนถึงดินดาน ปริมาณน้ำฝนก็ไม่แน่นอนแล้วแต่ลมมรสุม


เป็นลูกผสมขะอง ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิสผสมกับยูคาลิปตัส ดีกรุปต้า K7 ทำไม้ซุงท่อน

            ผู้จัดการแผนกส่งเสริมและจัดหาไม้ ตะวันตก คุณ ราเชนทร์ พรหมจรรย์ ทำหน้าที่เล่าต่อว่า  เจ้าของพื้นที่การเกษตรรายใหญ่ส่วนใหญ่ ปลูกไร่อ้อยเป็นหลัก ด้วยว่าระบบของโรงงานน้ำตาลมีเงินหมุนเวียนและโควตาให้เจ้ามือรายใหญ่ถือบั้งเหียน ตั้งแต่เริ่มภารกิจส่งเสริมการปลูกไม้ยูคาลิปตัส เจ้าใหญ่เข้าถึงยากและโน้มน้าวได้ยาก


เกษตรกรรายย่อย สะสมทรัพย์ได้จากต้นยูคาฯที่ปลูกบนคันนา 5 ปีตัดก็ได้เงินก้อน สายพันธุ์ H4

            ตั้งแต่นักวิชาการป่าไม้รุ่นแรกๆของบริษัทก็เพียรพยายามนำเสนอให้หันมาปลูกไม้ยูคาลิปตัส  แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะช่วงเวลาหนึ่ง สื่อทุกสาขาโจมตีต้นยูคาลิปตัวป่นปี้ เป็นต้นไม้ปีศาจ ปลูกแล้วดินเสื่อมและจะทำให้ดินเสื่อมปลูกอย่างอื่นไม่ได้อีกเลย เป็นคำตอบที่พี่ๆและผมตอบผู้บริหารระดับสูงได้ค่อนข้างยาก  ว่าทำไมไม่พุ่งเป้าเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรรายใหญ่ 


ตอ 1-2-3 จะได้เงินสะสมทุกรอบตัดฟันสั้นๆ 

            ปัจจุบันนี้ ปริมาณไม้ที่เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงาน 70 % เป็นไม้จากเกษตรกรรายย่อย 30%จากเกษตรกรรายใหญ่ บริษัทก็สามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่คาดไม่ถึงคือ แม้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม แต่ผลที่ชาวบ้านรายย่อยได้รับ ทำให้ภาพของบริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ดีขึ้น ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวบ้าน และเชื่อมั่นว่า ปลูกแล้วตัดขายได้จริง และจะสะสมเงินไปทุก 4-5 ปีก็สามารถตัดขายได้อีกหลายครั้ง นี่แหละทฤษฏีที่เป็นคำตอบให้รู้เห็นด้วยของจริง ชาวบ้านมีรายได้มั่นคงทุกช่วงเวลา 

            รูปแบบการส่งเสริม รายใหญ่นิยมปลูกเป็นแปลงใหญ่ ด้วยระยะปลูก 2x2 เมตร จำนวน 400 ต้น/ไร่  หรือระยะ 2x3 เมตร จำนวน 267 ต้น/ไร่  แต่เกษตรกรรายใหญ่ส่วนมากนิยมปลูกด้วยระยะ 3x3 เมตร จำนวน 177 ต้น/ไร่  เพื่อสะดวกในการดายวัชพืชด้วยรถไถ แต่ในทางปฏิบัติเราอยากให้ใช้รถแทรกเตอร์เล็กตัดหญ้าแทนการไถ


รายนี้ เห็นรายแรกๆได้เงินจึงเพิ่งจะปลูกตามหลัง นี่คือดัชนีชี้วัดการจุดติด 

            เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 SCG(สยามฟอเรสทรี) ลงนาม MOU กับสำนักชลประทานที่ 13 และส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา โดยมีผู้นำชุมชน 5 อำเภอในท้องที่ กาญจนบุรี ราชบุรีและเพชรบุรี ครอบคลุม 19 ตำบล 150 หมู่บ้าน ชื่อโครงการ คลองสวยน้ำใส เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน โดยมีเป้าหมายใช้ที่ดินชายคลองส่งน้ำของชลประทาน13 ให้ชุมชนปลูกต้นยูคาลิปตัส แบบเป็นแถว สลับฟันปลา ระยะห่าง 1x1 เมตร มีทั้งแบบ 2 แถวและ 3 แถว                      


สองฝั่งคลองชลประทานเขต 13 ความร่วมมือที่ได้ทั้งรัฐวิสาหกิจและชาวบ้าน

            ที่ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มี 14 หมู่บ้าน แต่ร่วมใจเข้าโครงการเพียง 13 หมู่บ้าน โดยปลูกปี 2560 จำนวน 4,000 ต้น  ปี2561 ปลูก 8,000 ต้น เป็นต้น เป็นต้นแบบที่ชุมชนอื่นๆลอกเลียนแบบ เรียกว่าจุดติดครับ

           หรือที่ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ปลูกบนคันนาแถวเดียว ด้วยพันธุ์H4  ต้นยูคาลิปตัสเติบโตดี  นาข้าวไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะรูปทรงต้นยูคาลิปตัสไม่ได้บดบังเรื่องแสงและระบบรากก็ไม่ได้ไปรุกล้ำต้นข้าวในนาแต่อย่างใด


            ในการตัดออกปีที่ 5 ชาวบ้านจะได้ยูคาลิปตัสต้นละ 100 กก. 10 ต้นก็เท่ากับ 1 ตันๆละ 800 บาท เท่ากับได้ต้นละ 80 บาท ถ้าปลูก 4,000 ต้น จะได้เงินสะสมเมื่อตัดปีที่ 5 ถึง 320,000 บาท นี่เป็นรายได้เข้าชุมชนครั้งที่ 1


            หลังการตัด ตอต้นยูคาลิปตัสจะแตกหน่อมากกว่า 9 หน่อ ทิ้งระยะให้หน่อที่แตกทั้ง 9 หน่อเติบโตจนทำฟืนตะเกียบได้ ราวๆ 7-8 เดือน ให้คัดเลือกหน่อที่สมบูรณ์ที่สุด 2 หน่อคงไว้  ตัดออกไปขายเป็นฟื้นตะเกียบให้โรงโอ่ง 6 หน่อ เป็นรายได้เพิ่มเล็กๆน้อย แต่ไม่มีคำว่าสูญเปล่า  แต่ในบางพื้นที่ใช้ฟืนตะเกียบเผาถ่ายขาย 

            เลี้ยงหน่อที่แตก 2 หน่ออายุ 3 ปี จะได้ต้นยูคาลิปตัสขนาด 3-8 นิ้ว ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นจากการตัดครั้งแรกด้วยจำนวนต้นที่มากกว่าและน้ำหนักเพิ่มขึ้น  ยืนยันว่า อายุตัดฟัน 3-6 ปี ไม้ยูคาลิปตัสให้เนื้อเยื่อดีที่สุด เฉลี่ยควรตัดเมื่ออายุ 4.5 ปี หากเกิน 5-6 ปี จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟอกสีเยื่อมากขึ้น 


บ้านหนองศาลเจ้า ต.เบิกไพร อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ระยะ 3x3 เมตร 

              การศึกษาและวิจัยเพื่อการปรับปรุงพันธุ์จึงต้อง โตเร็วประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย  สามารถตัดได้ในช่วงอายุ 4.5 ปี และได้เยื่อใยหนาแน่นที่สุด  การปลูกสวนป่าไม้ยูคาลิปตัสของบริษัทจึงเป็นไปตามทฤษฎีของสวนป่ายั่งยืน  แม้กระทั่งส่วนเปลือก ใบ และกิ่งก้านใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยคู่ดิน ที่บริษัทเก็บตกชนิดที่ไม่ให้ทุกชิ้นส่วนย่อยสลายไปอย่างเปล่าประโยชน์ สิ่งแวดล้อมงดงาม


ตอที่ 3 ผ่านไปแล้ว รอตัดตอที่ 4-5-6 

               แต่แปลงของคุณพนมศักดิ์ พรสุขสว่าง   สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลาดเอียงเล็กน้อย ดินเป็นทรายจัด ปลูกมันสำปะหลัง  สวนมะขามเปรี้ยว สลับกับแปลงยูคาลิปตัส ระยะปลูก 3x3 เมตร ต้นกล้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ระบบรากแก้วไม่เหมือนกล้าเพาะจากเมล็ด 

 

เจ้าของแก้ไขปัญหาจากประสบการณ์จริงด้วยตนเอง 

              “แปลงนี้ตัดไปแล้ว 3 ครั้งๆละ 4.5 ปี  แต่เนื่องจากดินเป็นทรายจัดปัญหาที่พบคือ เวลาต้นยูคาลิปตัสแตกหน่อใหม่ บางทีต้นล้มเพราะน้ำกัดเซาะทราย และลมพายุพัดกระหน่ำ  ต่อมาเว้นแนวชายขอบแปลงไว้ 2 แถว เหมือนเป็นแนวกันลมเพราะต้นที่คงไว้แข็งแรงและต้นใหญ่กว่า”

 

สองฝั่งถนนสัญจรภายในม.เกษตร จะเขียวขจีด้วยต้นไม้

            แปลงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นี่เริ่มต้นจากระยะทางที่ไม่ไกลจากโรงงานและพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมีมากถึง 8,000 ไร่ สามารถจะเพิ่มศักยภาพแปลงสาธิตให้ชาวบ้านเรียนรู้ได้อย่างสะดวกและเห็นเด่นชัด  แปลงปลูกเป็นแถว 4 แถวแบบสลับฟันปลา ระยะห่าง 1x 1 เมตร  สถิติอัตราการเจริญเติบโต เส้นรอบวงเฉลี่ย 47.935 ซม. ความสูงที่ใช้ประโยชน์ได้  20 เมตร อายุ 4 ปี  

            หลังการตัดครั้งแรกก็จะปล่อยให้แตกหน่อแล้วตัดได้ถึง 5 รอบ  เท่ากับมีต้นยูคาลิปตัสเป็นแนวสองข้างถนนอย่างสวยงามตลอดไป เป็นGreen campus 


            ตัวอย่างอีกแปลงหนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ฝ่ายเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ โดย คุณเสกสรร สีหวงษ์ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ กลุ่มภารกิจบริการวิชาการ โทร.098-5652939  ได้ซื้อกล้ายูคาลิปตัวสายพันธุ์ H4 จำนวน 120 ต้น ปลูกระยะ 3x3 เมตร ตายไป 2 ต้น       วัดขนาดเส้นรอบวงเพียงอก(1.30 เมตร) เมื่ออายุ 5 ปี 5 เดือน สรุปได้อัตราความเจริญเติบโต เส้นรอบวงเฉลี่ย  70.56 ซม. ความสูงโดยประมาณ 25 เมตร อาจเพราะสภาพดินและการจัดการดีเป็นพิเศษ แต่ไม่เคยใส่ปุ๋ยใดๆให้เลย คงมีเพียงกิ่งใบดอกที่ร่วงหล่นเท่านั้น เรียกได้ว่าปลูกทิ้งปลูกขว้างก็ได้

 

                  คุณณรงค์ และคุณราเชนทร์ นักวิชาการป่าไม้จากคณะวนศาสตร์ ยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า การส่งเสริมเกษตรกรด้วยการให้ซื้อกล้า ได้ผลการปลูกป่ามากกว่าการแจกต้นกล้าฟรี    

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view