อพท. ลงนามร่วม ผู้ว่าฯ เพชร-ประจวบฯ
พัฒนา หัวหิน-ชะอำ เพื่อท่องเที่ยวยั่งยืน
อพท. เชิญ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัด ประจวบฯ-เพชรบุรี ลงนาม MOU ลุยงานพัฒนาพื้นที่ รองรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เจาะ 4 กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างรายได้ถึงมือชุมชน
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง อพท. กับ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยง ให้เป็นไปตามแนวทางและรูปแบบการบริหารการพัฒนาตามที่ อพท. ได้ศึกษาไว้ โดยอยู่บนพื้นฐานความมีส่วนร่วมของทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง
การ MOU ในวันนี้จะเป็นสัญญาระหว่างกันของการเริ่มต้นกระบวนการพัฒนา ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ ของ อพท. ได้ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ ตลอดจนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ชุมชนและผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน แล้วนำผลที่ได้มาผ่านกระบวรการวิเคราะห์ศักยภาพ ปัญหา อุปสรรค ผลกระทบแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ของเมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยง ในการที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
สำหรับพื้นที่ที่จะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษครั้งนี้ครอบคลุม 15 ตำบล ใน6 อำเภอ รวม 2 จังหวัด ประกอบด้วย อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีก 4 อำเภอในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วย บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ท่ายาง และ ชะอำ
เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนจะดำเนินการภายใต้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1. พื้นที่ชายหาดตากอากาศคุณภาพสูง (Hi-end) ได้แก่ เมืองตากอากาศชะอำ หัวหิน และปากน้ำปราณ เพราะเหมาะกับการเล่นน้ำทะเลและกิจกรรมชายฝั่ง 2. พื้นที่ชายหาดตากอากาศสำหรับครอบครัว ได้แก่ บริเวณหาดเจ้าสำราณ ปึกเตียน บางเก่า และหาดปราณบุรี เพราะมีบรรยากาศเงียบสงบ 3. พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ประกอบด้วย ตำบลหนองศาลา ตำบลหนองขนาน ตำบลสามพระยา ตำบลทับใต้ ตำบลหินเหล็กไฟ และตำบลวังก์พง เพราะทั้ง 6 ตำบลนี้ยังคงมีพื้นที่เกษตรกรรมที่สมบูรณ์ มีทรัพยากรที่มีศักยภาพขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และ 4 พื้นที่องเที่ยวเชิงนิเวศ/ชุมชน ได้แก่ ตำบลแหลมผักเบี้ยและตำบลปากน้ำปราณเป้าหมายจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ พัฒนาที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์
“ในความร่วมมือครั้งนี้เพื่อร่วมกันถ่ายทอดเชิงนโยบายและสาระของแนวทางการพัฒนาไปยังพื้นที่ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นไปตามกลไกการประสานความร่วมมือ ช่วยประสาน ช่วยผลักดัน การดำเนินงาน ให้บรรลุผลตามแนวทางที่ อพท. ได้วางไว้ โดย จังหวัดและหน่วยงานรัฐในพื้นที่เป้าหมายยินดีมีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนา ร่วมกัน”
อย่างไรก็ตาม จากข้อสรุปผลสำรวจความคิดเห็นของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน สรุปว่า ร้อยละ 96.31 เห็นด้วยต่อการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยง และจากผลการศึกษายังพบว่า ทั้งหัวหินและชะอำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีศักยภาพของการเติบโต โดยปัจจุบันทั้งสองแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้เป็นลำดับที่ 11 และ 12 ของประเทศ โดยมีมูลค่าสูงถึง 9,215 ล้านบาท และ 8,850 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 1.14 และ 1.09 ของรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งประเทศ โดยในปี 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางเข้าไปหัวหิน 2,456,828 คน และ ชะอำ 2,099,847 คน
ผลจากการพัฒนาพื้นที่ตามเป้าหมายที่ อพท. วางกรอบแนวทางไว้ จะส่งผลคลอบคลุม 4 โครงการเมกกะโปรเจกต์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาการเดินเรือพัทยา-หัวหิน (East – West Ferry) โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – หัวหิน โครงการพัมนาด่านสิงขร เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับสหภาพพม่า และ โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยโครงการนี้จะศึกษาและทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
###
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ มัธนา เมนแก เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ อพท.
โทร 0 2357 3580 ต่อ 404 matana.m@dasta.or.th,m_matana@hotmail.com