สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.)
โดย สุเทพ ช่วยปัญญา เรื่อง-ภาพ
สภาอุตสาหกรรมแจงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1 ลดลง นักท่องเที่ยวลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ไทยเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปแล้ว 82,725 ล้านบาท ในครึ่งปีแรก เร่งภาครัฐสร้างความเชื่อมั่น และนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ชี้หากการเมืองมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในปี 2557ยอดนักท่องเที่ยวลดลงเกินร้อยละ 22% แน่นอน
นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์
นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสากรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เป็นประธานแถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปี 2557 เท่ากับ 96 (ตำ่กว่า 100 ถือว่าตำ่กว่าปกติ) เป็นไตรมาสแรกนับตั้งแต่ปี 2556 ที่ผู้ประกอบการประเมินความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับปกติ แสดงให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ประกอบการ คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 2/2557 เท่ากับ 98 เป็นการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 คาดว่าไตรมาส 2/2557 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.15 ล้านคน ทั้งนี้เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้ไทยเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปแล้วในครึ่งปีแรกถึง 82,725 ล้านบาท จากการที่เคยคาดการณ์ไว้ และหากยังมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมาอาจส่งผลเสียหายเพิ่มขึ้นอีก
สำหรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรายภูมิภาคที่สำคัญพบว่าไตรมาส 2/2557 หากเหตุการณ์ทางการเมืองมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ค่าคาดการณ์จะลดลงเหลือเพียง 5.43 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก 1.42 ล้านคน (ลดลงร้อยละ 14.46 จากปีก่อน) นักท่องเที่ยวจากอาเชียน 1.53 ล้านคน (ลดลงร้อยละ 6.31 จากปีก่อน) และนักท่องเที่ยวจากยุโรปจะลดลงเหลือ 1.39 ล้านคน (ลดลงร้อยละ 8.55 จากปีก่อน)
จากผลสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติพบว่า นโยบายที่นักท่องเที่ยวประเมินว่าจะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมากท่ีสุดได้แก่ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย การเผยแพร่ข้อมูลที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ การสร้างฐานข้อมูลแนะนำแหล่งท่องเที่ยว และการดูแลมาตรฐานและคุณภาพการบริการของผู้ประกอบการ ในขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทยให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยในการเดินทาง ความสะดวกในการเดินทาง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติและความสู้สึกปลอดภัย อาจใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หรือแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองมาทดแทน
2. ในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ควรกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย โดยกระตุ้นการจัดสัมมนาและประชุมในประเทศ จัดประชาสัมพันธ์ การจัดงานออกบูธ หรือใช้มาตราการภาษี ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวคนไทยนำค่าใช้จ่าย ในการท่องเที่ยวภายในประเทศไปหักลดหย่อนภาษีได้
3. เยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองโดยอาจพิจารณายกเว้นการเก็บภาษี สนับสนุนให้ภาครัฐจัดประชุมสัมมนาในพื้นที่ และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในพื้นที่
4. ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกและให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ในการทำตลาดเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ โดยอาจจัดอบรมการใช้เทคโนโลยี่ หรือการออกงานเพื่อขยายช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ
5. พัฒนามาตรฐานและความปลอดภัยในการให้บริการ โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ควรจะได้มีการจัดระเบียบเพื่อควบคุมราคาและการบริการให้มีมาตรฐาน
6. ช่วยเหลือในการพ้ฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนการจัดอบรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวการทดสอบมาตรฐาน และการควบคุมดูแลบุคลากรการท่องเที่ยว
7. ลงทุนพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวในอนาคต ในขณะเดียวกันควรดูแลจัดการของเสียและผลกระทบที่อาจเกิดจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยว
นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสากรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวในไตรมาส 1/2557 ลดลงได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ว่าจะมีการปลดล็อก พรก.ฉุกเฉิน และต่างชาติเริ่มลดระดับการเตือนภัยลงแล้ว รวมถีงฮ่องกง ไต้หวัน และออสเตรีย ทำให้ขณะนี้ประมาณ 50 ประเทศ มีการเตือนนักท่องเที่ยวเพียงให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม แต่จากสถิตินัท่องเที่ยว อัตราการเข้าพักปัจจุบันและแนวโน้มของการจองล่วงหน้า ยังไม่เห็นสัญญาณการพลิกฟื้นเท่าที่ควร โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง ในเดือนมีนาคมปี 2557 มียอดลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 22
อีกทั้งขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วง Greem Season จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งผลักดันแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามที่เคยตั้งเป้าไว้ สทท.เห็นว่าภาครัฐควรเร่งสนับสนุนใช้จ่ายงบฉุกเฉินในมาตรการหลัก 3 ประเด็นดังต่อไปนี้ทันที
1. กระตุ้นตลาดต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับตลาดที่มีความอ่อนไหวและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว อาทิ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยใช้มาตราการจูงใจให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ การส่งเสริมเที่ยวบินเช่าเหมาลำ การจัดกิจกรรมส่งเสริม รวมถึงการจัดการ Mega Famtrip ให้กับคู่ค้าและสื่อมวลชน
2. กระตุ้นตลาดในประเทศเน้นกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง
3. เยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนการอบรมบุคลากรในสถานที่ประกอบการ รวมถึงการอบรมผู้ประกอบการท่องเที่ยว”
นายจิระเดช ห้วยหงษ์ทอง ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวเสริมว่า “จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับนักท่องเที่ยวมักพบว่ามาจากการเดินทางโดยรถยนต์ ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่ารัฐให้ความสำคัญการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังขาดการพัฒนาสินค้าและบริการ ทั้งมาตราฐานรถยนต์โดยสาร และบุคลากรโดยเฉพาะคนขับรถสาธารณะ ทั้งในส่วนของรถโดยสารสาธารณะและรถนักท่องเที่ยว ช่วงฤดูการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเอกชนขาดแคลนคนขับรถบัสท่องเที่ยวมาก ทำให้มีแต่รถที่จอดอยู่แต่ไม่มีคนขับ เป็นการสูญูเสียโอกาสทางการท่องเที่ยวอย่างมาก จึงควรเร่งอบรมบุคลากรวิชาชีพการขับรถสาธารณะโดยเร็ว” แถลงเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 โรงแรมเอส31 สุขุมวิท31 กรุงเทพมหานคร
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร. 02 250 5500 ต่อ 1646 - 1648 อีเมล์ info@thailandtourismcouncil.org