สรงน้ำพระมอญที่วัดวังก์วิเวการาม
อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
โดย ณิชาวดี เรื่อง-ธงชัย เปาอินทร์-ภาพ
มอญหรือชาวรามัญเคร่งในพุทธศาสนา ศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ พระเกจิอาจารย์แห่งวัดวังก์วิเวการาม แม้หลวงพ่อจะละสังขารไปแล้ว แต่ยังบูชาท่านไว้ในโลงแก้วประดิษฐานไว้ในศาลาของวัด ซึ่งตบแต่งสวยงามตามศิลปะ วัฒนธรรมมอญครบเครื่อง
พี่น้องมอญให้ความสำคัญกับพุทธประเพณีทุกขั้นตอน ทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นบุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา บุญสงกรานต์สะพานมนุษย์ให้พระเหยียบย่ำไปสรงน้ำจากขันนับพันใบรินน้ำไหลไปตามท่อไม้ไผ่พันปล้อง อบร่ำด้วยดอกไม้หอมและน้ำอบน้ำปรุงชื่นใจ
ณิชาวดีดีใจมากที่สุดในรอบปีที่ได้ไปร่วมงานบุญสงกรานต์และสรงน้ำพระตามประเพณีพี่น้องมอญที่วัดวังก์วิเวการาม ไปกันทั้งครอบครัว แถมด้วยครอบครัวของเพื่อนรัก ซึ่งประเพณีนี้สืบทอดกันมายาวนานกว่าอายุณิชาวดี แต่เพิ่งจะได้มาร่วมบุญ
สงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน 2557 (ขึ้น 14-15 ค่ำเดือน 5 และวันแรม 1 ค่ำเดือน 5 ) แต่พี่น้องมอญอำเภอสังขละบุรีมีนัดกันว่า จะจัดประเพณีสรงน้ำพระและเล่นสงกรานต์กันไปด้วยในวันที่ 17 เมษายน 2557 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำเดือน 5 เวลา 15.30 น.เป็นต้นไป
แน่นอนเลยว่า ช่วงสงกรานต์ไม่อยากออกจากบ้านไปไหน รถเยอะมากก อาจเกิดอุบัติเหตุจากคนเมาหรือคนคึกคะนองจนเลยเถิด สถิติอุบัติเหตุปรากฏมากมายบนจอทีวี เหมือนเป็นวิถีกรรมของผู้คนในวันสงกรานต์ ต้องไปเฝ้าพญายมราช
แต่ปีนี้ โชคดีที่มีกำหนดการไปเที่ยวทำบุญ “สรงน้ำพระมอญและเล่นสงกรานต์บ้านมอญ” พ่อประสานงานไปยังสวนป่าเกริงกระเวีย อำเภอทองผาภูมิ เพื่อเข้าพักแรมที่นั่น บรรยากาศบ้านพักกลางป่าที่รื่นรมย์ การเดินทางไปวัดวังก์วิเวการามไม่ไกล แค่ 60 กม.
ถนนลาดยางอย่างดี ชวนให้ขับรถไปสบายๆ ได้เห็นน้ำในเขื่อนเขาแหลมแห้งขอด เรือนแพที่เคยลอยฟ่องลงไปกองอยู่ก้นบึง ปริมาณน้ำในหน้าแล้งน้อยกว่าที่เคย ต้องรอฝนปีนี้ จึงจะมีปริมาณน้ำสะสมพอเพียง ภาพจะสวยงามยามน้ำปริ่มฝั่ง
ในหน้าร้อนแห่งเดือนเมษายน ใบไม้ในป่าโปร่งร่วงหล่นจนโกร๋น แต่ต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบยังคงความเขียวขจี ดอกไม้ที่เห็นข้างทางมีแต่เสลา อินทนิลบก สีม่วงปนชมพู โดยรวม ป่าเขาแห้งและหงอยเหงา ดูเศร้าซึมไปทั่ว
เมื่อไปถึงอำเภอสังขละบุรี ได้แวะกินอาหารจานเดียวในตลาด ซึ่งเหลือเพียงร้านเดียว ทุกร้านปิดไปทำบุญ ไปพักผ่อนแดนไกล อิ่มแล้วก็ตัดสินใจกันว่า มีเวลาเหลือเยอะเลยกว่าจะถึงประเพณีสรงน้ำพระที่เจดีย์พุทธคยา วัดวังก์ฯ จึงไปเยี่ยมเยียนด่านเจดีย์สามองค์กันก่อน
ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้วเล่าสู่กันฟังว่า นี่หรือคือด่านที่พม่ายกทัพกรีฑามารุกรานอยุธยาราชธานีเมื่อครั้งกระโน้น ได้เห็นแผ่นดินที่เชื่อมต่อกัน สามารถเดินข้ามไปมากันได้เหมือนพื้นเดียวกัน ถ้าไม่มีคำว่าประเทศก็น่าจะเป็นแผ่นดินเดียวกัน
เมื่อกลับไปที่วัดวังก์วิเวการาม ได้เข้าไปกราบศพหลวงพ่ออุตตมะในโลงแก้ว แล้วจึงกลับไปรอที่เจดีย์พุทธคยาจำลอง ลานกว้างๆหน้าเจดีย์แคบลงไปด้วยรถของนักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่เดินกันไปมา แต่ในจำนวนนั้นเป็นช่างภาพจากสำนักสื่อสารมวลชนส่วนหนึ่ง
แต่อีกจำนวนมาก เป็นตากล้องอิสระผู้รักการถ่ายภาพ แต่ละคนแบกกล้องและพกพากันมาเต็มอัตราศึก เป็นกล้องชั้นดี มีราคาแพงมาก บางคนขนมามูลค่ารวมเป็นล้านๆบาท บางคนขนมากว่าห้าแสนบาท เห็นแล้วอยากปล้นจริงๆ
ร้านขายของฝากมีผ้าสีสวยๆให้เลือก มีแป้งมอญทาหน้าให้ซื้อ มีสาวมอญแต่งตัวสวยๆและแต้มใบหน้าด้วยแป้งทานากะแปลกตา พวงกุญแจ แก้วแหวนเงินทองแบบมอญ แม้กระทั่งไม้ที่แกะสลักและเฟอร์นิเจอร์มากมี
แสงแดดยามบ่าย ร้อนแรง ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เป็นสีน้ำเงินงามตา เจดีย์พุทธคยาเหลืองอร่ามโดดเด่นและงามสม เบื้องหน้ามีปะรำที่บดบังท่อไม้ไผ่พันปล้อง มีแท่นให้พระสงฆ์เข้าไปรับน้ำจากปลายกระบอกไม้ไผ่
วัฒนธรรมการสรงน้ำพระสงฆ์ของชาวมอญ สืบสานกันมาช้านาน ด้วยการใช้ลำไม้ไผ่มาสับเอาบางส่วนออกเพื่อให้เป็นรางน้ำไหลไปยังแท่นอาบน้ำ ทะลุปล้องออกจนเกลี้ยง ผูกโยงเข้าหากันอย่างสวยงาม ระดับรางก็พอดีไหล่ เขาไม่สรงน้ำถึงตัวพระ
พี่น้องมอญแต่งตัวตามวัฒนธรรมการแต่งกาย นุ่งซิ่น สวมเสื้อคอวีหรือคอกลม ห่มสไบเฉียง ประแป้งทานากะหรือเนื้อต้นกระแจะจันทร์บนใบหน้า เทินขันเงินบรรจุน้ำที่โรยด้วยดอกไม้หอมและน้ำปรุงหอมกรุ่น แต่ละวัยก็แต่งแตกต่างกันไป
แต่ที่แปลกแยกไปแล้วก็มีเช่นสาวชุดมอญสวยๆแต่งหน้าด้วยคัพเวอร์มาร์ค ไม่ทาแก้มด้วยกระแจะจันทร์เหมือนเดิม จึงเหลือแต่พี่น้องมอญอาวุโสยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ อย่างเดียวที่เหมือนกัน สวมทองหยองพราวพราย น่าปล้นจริงๆ
ชายมอญยังสวมโสร่งสีแดง สวมเสื้อตามมีตามเกิด ไม่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแล้ว ไม่ใช้ผ้าขาวม้าพันศีรษะ เหมือนชายไทยทั่วไป ผิดกันก็แต่แต่ละคนผิวดำคล้ำแดดกรำงานทุกคน หากหนุ่มไหนหน้าขาวผิวผ่องส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่มที่เข้าไปทำงานยังเมืองไกล
ขันเงินที่ใช้เป็นขันเงินเทียม บางเบา มีบางคนยังใช้ขันทองเหลืองแบบเก่า ที่ก้าวไกลไปจากวัฒนธรรมมากก็ใช้ขวดน้ำพลาสติกใส่น้ำมาสรงน้ำพระ วิวัฒนาการของโลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปตามกาลเวลา พวงดอกไม้ที่เคยร้อยก็หายไป
วัฒนธรรมของชาวมอญ คนสำคัญในพิธีวันนี้ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี จะเป็นผู้อุ้มพระพุทธรูปเดินลงให้ชาวมอญสรงน้ำก่อนพระสงฆ์จริง แล้วอุ้มกลับไปบนมหาเจดีย์ แต่ในการเดินอุ้มพระพุทธรูปเดินดินปกติเหมือคนทั่วไป
ถึงเวลาที่พระสงฆ์จะลงสรง ชายหนุ่มชาวมอญก็ล้มตัวลงนอนสลับกัน ใช้แผ่นหลังให้พระสงฆ์เดินเหยียบ แต่ละคนใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนวาดหวังว่าจะรับบุญ เด็กเล็กๆสองคนขันอาสามาแย่งให้เหยียบ หัวเราะด้วยคิดว่าสนุก
เจ้าอาวาสเดินนำขบวนพระสงฆ์ลงมาจากมหาเจดีย์พุทธคยา เจ้าเด็กน้อยหน้าบูดเบี้ยวด้วยคิดว่าพระจะเหยียบบนแผ่นหลัง เหมือนพระสงฆ์จะรู้เลยข้ามไปเหยียบพื้นบันได เขาจึงยิ้มร่า ครั้นพระสงฆ์เหยียบไปจนสุดแล้ว หนุ่มมอญลุกขึ้นนั่งยกมือขึ้นพนมสาธุๆ
ตามลำรางคลาคล่ำไปด้วยพุทธศาสนิกชน หยอดน้ำหอมผ่านลำไม้ไผ่ให้ไหลไปยังแท่นที่พระสงฆ์เปลี่ยนกันมานั่งรับน้ำสรง ความวุ่นวายกลายเป็นความงดงาม เมื่อเสร็จสิ้นการสรงน้ำพระก็สาดน้ำเล่นสงกรานต์กันไปในทันใด
ตากล้องจ้องถ่ายรูปกันวุ่นวาย ไม่รู้ว่ามาจากแหล่งไหนกันบ้าง ทุกคนหวังจะได้ภาพเด็ด แต่โดยรวมๆก็ได้ภาพตามมุมมองของแต่ละคน บางคนปีนขึ้นหอระฆังสูงลิบ บางคนปีนขึ้นรถน้ำเพื่อให้ได้ภาพมุมสูงและกว้างไกล ถึงอย่างไรก็ได้แต่เพียงนี้
ปีนี้ช่างโชคดีที่ได้มาร่วมงานบุญสรงน้ำพระและเล่นสงกรานต์กับพี่น้องชาวรามัญ ซึ่งมีเชื้อสายเดียวกัน น่าอัศจรรย์ที่ยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีดีงามไว้ชั่วลูกหลาน