ชสอ. ยังแกร่งได้เรทติ้ง ที่ A- ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ A- ด้วยแนวโน้ม Stable
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ยังแกร่งได้เรทติ้ง ที่ A- ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ A- ด้วยแนวโน้ม Stableได้รับการจัดอันดับเรทติ้งที่ A- โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำหน้าที่ให้บริการวิเคราะห์และประเมินสถานะความน่าเชื่อถือ
ดร.เฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) เป็นประธานแถลงข่าว ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) จัดงานประกาศผลอันดับความน่าเชื่อถือของ ชสอ. โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมจากสหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิก สถาบันการเงิน ขบวนการสหกรณ์ไทย และสื่อมวลชน จำนวน กว่า 300 คน
ดร.เฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ชสอ. เปิดเผยว่า “ในฐานะที่ ชสอ. เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศโดยได้รับการสนับสนุนจากสหกรณ์ต่างๆ มาลงทุนใน ชสอ. ทั้งในรูปทุนเรือนหุ้น 10,336 ล้านบาท รูปเงินฝากและตั๋วสัญญาใช้เงิน 34,949 ล้านบาท ทำให้ ชสอ. มีสินทรัพย์ ณวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 62,658 ล้าน เพื่อให้สหกรณ์ที่ลงทุนใน ชสอ. ได้มีความมั่นใจว่า ชสอ.เป็นสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงปลอดภัยในการดูแลเงินฝาก เงินลงทุนของสหกรณ์ และเพื่อให้ทราบถึงสถานะหรืออันดับความน่าเชื่อถือของ ชสอ. โดยการประเมินที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ชสอ. จึงได้เชิญ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำหน้าที่ให้บริการวิเคราะห์และประเมินสถานะความน่าเชื่อถือ
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ที่ระดับ A- ด้วยแนวโน้ม Stable หรือ คงที่ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ ชสอ. ในการส่งเสริมและพัฒนาขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะของ ชสอ. ในการเป็นชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในด้านขนาดของสินทรัพย์และจำนวนสมาชิก รวมทั้งประวัติการดำเนินงานที่ยาวนาน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของคณะผู้บริหารและพนักงาน ผลประกอบการทางการเงินที่ปรับดีขึ้น และคุณภาพที่ดีของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิก การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสิทธิพิเศษที่กฎหมายมีให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิด้วย โดยสิทธิพิเศษดังกล่าวได้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่คุณภาพสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และยกระดับความได้เปรียบทางการแข่งขันของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งรวมทั้ง ชสอ. ให้มีเหนือสถาบันการเงินทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากอัตราส่วนหนี้สินของ ชสอ. ที่ค่อนข้างสูง ตลอดจนความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สิน และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นซึ่งอาจจะลดสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า ชสอ. จะสามารถรักษาบทบาทที่สำคัญในขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่า ชสอ. จะสามารถรักษาระดับฐานเงินทุนภายในที่ได้รับจากสมาชิกไว้ได้ พร้อมทั้งมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งเพื่อสามารถให้ผลตอบแทนคืนสู่สมาชิกในระดับที่น่าพอใจ โดยที่การเปลี่ยนแปลงใดใดไม่ว่าจะเป็นการมีนโยบายดำเนินงานในเชิงรุกมากขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจากทางการที่จะลดทอนสิทธิพิเศษของสหกรณ์ออมทรัพย์ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ ชสอ. ได้”
ชสอ. ก่อตั้งในปี 2515 โดยการริเริ่มของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ ชสอ. จัดเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นทุติยภูมิ โดยที่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิจะเป็นสมาชิกของ ชสอ. ส่วนบุคลากรของสถานประกอบการที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์จะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิ ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์และจำนวนสมาชิกแล้ว ชสอ. จัดเป็นชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 9 แห่งในประเทศไทย ชสอ. ได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิได้รับ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้จากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล และภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินปันผล
ชสอ. เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2516 โดยมีจำนวนสหกรณ์สมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 81 แห่ง ณ วันเริ่มก่อตั้งเป็น 1,025 แห่ง ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 หรือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่หรือ 76.7% ของจำนวนสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ ชสอ. แล้ว ชสอ. ให้บริการทางการเงินแก่สหกรณ์สมาชิกซึ่งรวมถึงการรับฝากและการให้กู้ยืมเงิน นอกจากนี้ ชสอ. ยังมีบทบาทสำคัญต่อขบวนการสหกรณ์ในระดับชาติด้วย โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริม วางแผน และพัฒนาสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ของ ชสอ. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากประมาณ 30,000 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2551 เป็นมากกว่า 60,000 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 การเติบโตขึ้นของสินทรัพย์เกิดจากการระดมเงินทุนผ่านการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินทุนจากสหกรณ์สมาชิกทั้งในรูปแบบของทุนเรือนหุ้น เงินฝาก และการกู้ยืมผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินยังคงเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด
ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ชสอ. มีเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดหรือ 59.8% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกอยู่ในระดับ 59%-66% ของสินทรัพย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 38.4% ของสินทรัพย์รวมเป็นเงินลงทุน และส่วนที่เหลืออีก 1.8% เป็นเงินสดและสินทรัพย์อื่น ๆ ชสอ. มีนโยบายให้กู้ยืมทั้งแก่สหกรณ์ที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก แต่จะให้สิทธิพิเศษแก่สหกรณ์สมาชิกก่อนหากความต้องการกู้ยืมจากสมาชิกมีมาก ทั้งนี้ ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกมีจำนวน 36,850 ล้านบาท ชสอ. ให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเพียง 263 รายจากจำนวนสหกรณ์สมาชิกทั้งหมด 1,025 ราย ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556
ส่งผลให้ ชสอ. มีความเสี่ยงจากการการกระจุกตัวในเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิก เงินให้กู้ยืมแก่สมาชิก 20 อันดับแรกคิดเป็น 50.3% ของเงินให้กู้ยืมรวม ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2552 และอยู่ที่ระดับ 39.5% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลง แต่ ณ ปัจจุบันระดับดังกล่าวก็ถือว่าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมลดทอนลงจากการที่ ชสอ. มีคุณภาพเงินให้กู้ยืมในระดับที่สูง
ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ชสอ. มีเงินให้กู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียง 9 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของเงินให้กู้ยืมรวม เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกของ ชสอ. ที่มีคุณภาพดีนั้นได้รับผลพลอยได้จากกลไกการชำระคืนหนี้อัตโนมัติและสิทธิพิเศษทางกฎหมายที่มีให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิ เงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิที่ถึงกำหนดชำระสามารถใช้วิธีหักชำระจากเงินได้รายเดือนของสมาชิก นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายสหกรณ์ สหกรณ์มีบุริมสิทธิเป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของสมาชิก กลไกการชำระคืนและการสนับสนุนที่กำหนดไว้ในกฎหมายช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตให้แก่เงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิ
ในขณะที่ความมั่นคงของกระแสเงินสดรับในการชำระคืนเงินให้กู้ยืมของสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ยืมของลูกหนี้ของ ชสอ. นอกเหนือจากกลไกการชำระคืนและสิทธิพิเศษทางกฎหมายแล้ว ชสอ. ยังมีเกณฑ์และแนวทางที่เข้มงวดในการพิจารณาเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกด้วย ในปี 2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเกิดการผิดนัดชำระเงินเนื่องจากการทุจริตภายใน อย่างไรก็ตาม ชสอ. ไม่มีรายการธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ดังกล่าว
ภายใต้ พ.ร.บ. สหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ถูกจำกัดให้ลงทุนในขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยการจำกัดขอบเขตดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงทางด้านเครดิตของเงินลงทุน อัตราส่วนเงินลงทุนต่อสินทรัพย์รวมของ ชสอ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 31.4% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2553 เป็น 38.4% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 เงินลงทุน ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ประกอบไปด้วยหุ้นกู้เอกชน 78.9% ของเงินลงทุน ในขณะที่ 14.4% เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารทางการเงินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล อีก 6.7% เป็นการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้นทุนและกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดของเงินลงทุนของ ชสอ. ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 หรือ 81.6% เป็นเงินลงทุนระยะยาว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชสอ. เผชิญกับอุปสรรคในการระดมเงินทุนในด้านของเงินฝากและเงินกู้ยืมจากสมาชิกโดยผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน กล่าวคือเงินฝากและเงินกู้ยืมผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินในรอบปีบัญชี 2554-2556 เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% 5.6% และ 1.9% ตามลำดับ เทียบกับอัตราการเติบโตที่มากกว่า 10% ในช่วงรอบปีบัญชี 2551-2553 ชสอ. ได้ระดมทุนเพิ่มเติมผ่านการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 7,825 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2551 เป็น 15,665 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 หรือคิดเป็น 25% ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้ เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าเงินทุนขนาดใหญ่ที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินจะมีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อมากกว่าการใช้เงินฝากและการกู้ยืมจากสหกรณ์สมาชิกเป็นแหล่งเงินทุน
การมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ ชสอ. มีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อเมื่อถึงกำหนดและความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยความเสี่ยงจะมีค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านลบในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์หรือระบบเศรษฐกิจ เงินทุนระยะสั้นที่มากขึ้นก็ส่งผลให้ ชสอ. มีส่วนต่างระหว่างระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นลบมากขึ้น ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ประมาณ 30% ในสินทรัพย์ของ ชสอ. เป็นสินทรัพย์ระยะยาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนที่ไม่มีกลไกในการปรับอัตราดอกเบี้ยได้ ชสอ. จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในระดับหนึ่งด้วย
ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากเงินลงทุนและต้นทุนทางการเงินของ ชสอ. ปรับลดลงจาก 2% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 0.8% ในรอบปีบัญชี 2556 อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายจากเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 1% ในรอบปีบัญชี 2556 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.9% ในรอบปีบัญชี 2554 เป็น 1% ในรอบปีบัญชี 2556 ธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้มีความซับซ้อนเหมือนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของธุรกิจจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานของ ชสอ. ยังอยู่ในระดับที่ต่ำและสามารถควบคุมไว้ที่ระดับประมาณ 5% ของรายได้รวมในช่วง 3 รอบปีบัญชีที่ผ่านมา
ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นจึงช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรให้เพิ่มขึ้น โดยกำไรสุทธิของ ชสอ. เพิ่มขึ้นจาก 543 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 713 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2554 และ 748 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2555 และปรับเพิ่มขึ้นถึง 913 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2556 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 1.5% ในรอบปีบัญชี 2556 อัตราผลตอบแทนต่อทุนของ ชสอ. โดยเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 7.3% ในรอบปีบัญชี 2556 ในรอบปีบัญชี 2556 ชสอ. ได้ปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกเป็น 5.6% จาก 5.2% ในรอบปีบัญชี 2553
ทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขข้อบังคับของ ชสอ. ที่กำหนดให้สหกรณ์สมาชิกจะต้องซื้อหุ้นของ ชสอ. เพิ่มเติมในสัดส่วนที่สอดคล้องกับทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์สมาชิก ในสถานการณ์ปกติ ทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ทุนเรือนหุ้นของแต่ละสหกรณ์สมาชิกจะเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติจากกลไกปกติในการซื้อหุ้นเพิ่มรายเดือนของสมาชิก ทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 6,257 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2552 เป็น 9,211 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2553
เนื่องจากมีการซื้อหุ้นเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากสหกรณ์สมาชิกรายหนึ่งในรอบปีบัญชี 2553 หลังจากการซื้อหุ้นเพิ่มเป็นพิเศษในครั้งนั้น ทุนเรือนหุ้นก็ปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 2%-6% ต่อปีในช่วงรอบปีบัญชี 2554-2556 โดยทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. อยู่ที่ระดับ 10,283 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ทุนของ ชสอ. ซึ่งประกอบไปด้วยทุนเรือนหุ้น ทุนสำรองตามกฎหมาย ทุนสำรองตามข้อบังคับ กำไรหรือขาดทุนจากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และกำไรสุทธิก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 7,708 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2552 เป็น 12,805 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 อัตราส่วนทุนของ ชสอ. ต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 20% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่และตั้งมานานซึ่งมีอัตราส่วนดังกล่าวที่ระดับประมาณ 40%