โรงพยาบาลวัฒโนสถ
โรงพยาบาลวัฒโนสถ ร่วมลงนามความร่วมมือกับ Universal Strategy Institute Limited Liability Company แห่งประเทศญี่ปุ่น สร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคมะเร็งในเอเชียแปซิฟิก
โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมกับ Universal Strategy Institute Limited Liability Company แห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามความร่วมมือ สร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีทางด้านรังสีรักษาที่ให้ประสิทธิผลในผู้ป่วยมะเร็งและเนื้องอกที่ทันสมัย โดยใช้ระยะเวลาในการรักษาสั้น มีผลข้างเคียงน้อย ใช้ได้กับผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการฉายรังสีแบบเดิม หรือรับการรักษาแบบเดิมแล้วไม่เป็นผล
นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธี โรงพยาบาลวัฒโนสถ ร่วมลงนามความร่วมมือกับ Universal Strategy Institute Limited Liability Company แห่งประเทศญี่ปุ่น สร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นศนูย์กลางการรักษาโรคมะเร็งในเอเชียแปซิฟิก พร้อมด้วย นายแพทย์จุลเดช ยศสุนทรากุล ที่ปรึกษา บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานคณะผู้บริหาร และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ศ. คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล Takashi Nakano, M.D. Ph.D. President, NPO Japanese Organization for International Cooperation In Radiation Medicine Mr. Ken Matsuzawa, Chairman & CEO, Universal Strategy Institute Llc. Mr. Akihiko Uchikawa Minister-Economic Section, Embassy of Japan in the Kingdom of Thailand ร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย
นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์กรุงเทพ กล่าวว่า “การลงนามร่วมกันเพื่อสร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy ในครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าอีกชั้นของวงการแพทย์ในเมืองไทย ที่ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศด้านรังสีรักษาทางการแพทย์ของญี่ปุ่น (NPO Japanese Organization for International Cooperation in Radiation Medicine) และโรงพยาบาลศิริราช ในปี ค.ศ. 1993 สถาบันวิทยาศาสตร์รังสีแห่งชาติ หรือ เอ็นไออาร์เอส (National Institute of Radiological Sciences: NIRS) ในประเทศญี่ปุ่นได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคหนักที่มีประจุ (heavy charged particle accelertor) สำหรับการรักษาโรคเพื่อใช้ในทางการแพทย์ขึ้น และประสบความสำเร็จในการใช้รังสีรักษาด้วยคาร์บอนไอออน โดยได้รับการรับรองในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จากกระทรวงสุขภาพแรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น
ในหัวข้อ การรักษาก้อนเนื้อด้วยไอออนหนัก (Solid tumor treatment with heavy ion therapy) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (NIRS) ได้รักษาคนไข้ไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อมูลอัตราการมีชีวิตรอดที่ 5 ปี ในมะเร็งแต่ละชนิดดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก 95% มะเร็งปอด (non-small cell lung cancer) ระยะที่หนึ่ง 70% มะเร็งกระดูกที่บริเวณด้านข้างของกระดูกสันหลังและกระดูกอุ้มเชิงกราน 50% มะเร็งตับชนิดลุกลามหรือชนิดกลับเป็นใหม่ 50% มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม 45% เป็นต้น และในปัจจุบันสถาบันที่มีเทคโนโลยีการรักษาด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy มี 7 แห่ง ทั่วโลกได้แก่ ญี่ปุ่น 4 แห่ง เยอรมนี 1 แห่ง อิตาลี 1 แห่ง และ เซี่ยงไฮ้ 1 แห่ง โรงพยาบาลวัฒโนสถจะเป็นลำดับที่ 8 ในการสร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy”
ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy นั้นมีการใช้อนุภาคคาร์บอน นีออน และอาร์กอน (ไอออนหนัก) ในการฉายรังสี ส่วนใหญ่ที่ใช้กันมากจะเป็นคาร์บอนบำบัด (Carbon Therapy) ซึ่งไอออนหนักสามารถคายพลังงานเกือบทั้งหมดในความลึกที่ต้องการได้ ดังนั้นจึงสามารถให้ปริมาณรังสีที่เชลล์มะเร็งและเนื้องอกในปริมาณที่สูง โดยที่เนื้อเยื้อปกติโดยรอบได้รับรังสีน้อยมาก นอกจากนี้ไอออนหนักยังมีความสามารถในการทำลายมะเร็งมากกว่ารังสีที่ใช้อยู่ทั่วไป 2 - 3 เท่า ไอออนหนักประเภทหนึ่งของอนุภาค หรือ Particle Therapy
Particle Therapy แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton Beam Therapy) โดยอนุภาคโปรตอนนี้จะได้มาจากการแยกไฮโดรเจนไอออน และการรักษาด้วยอนุภาคไอออนหนัก (Heavy-ion Beam Therapy) ไอออนหนักนั้นส่วนใหญ่จะใช้ธาตุคาร์บอนในการรักษา ซึ่งระยะเวลาการรักษาด้วยคาร์บอนนั้นสามารถลดทอนระยะเวลาในการรักษาลงได้ครึ่งหนึ่ง และปริมาณรังสีที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับมีปริมาณน้อยกว่าการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน การรักษาด้วยอนุภาค Particle Therapy เป็นการรักษาที่แพร่หลายมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งและเนื้องอกด้วยวิธีการทางรังสีรักษา โดยใช้นิวเคลียสพลังงานสูงของมวลหนักต่างๆ ได้แก่โปรตอน คาร์บอน อาร์กอน ฯลฯ
ข้อดีของการรักษาด้วยอนุภาคบำบัดคือ มีความแม่นยำสูง ลำรังสีสามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในความลึกและตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ในปริมาณรังสีที่เหมาะสม จึงเหมาะสำหรับการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด และกลุ่มผู้ป่วยที่ปฏิเสธการผ่าตัด เนื่องจากลำรังสีจะคายพลังงานเกือบทั้งหมดในตำแหน่งที่กำหนด จึงทำให้ปริมาณรังสีที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายนั้นก่อผลกระทบกับเซลล์ปกติน้อยมาก ในขณะที่เซลล์มะเร็งหรือก้อนเนื้องอกนั้นจะถูกทำลายอย่างตรงเป้าหมาย การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดจึงเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอนาคตจากการฉายรังสี (Secondary malignancy)”
แถลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 เวลา ณ ห้องประชุม 7R อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร