กฟผ.ฝ่ากระแสต้าน ลุยประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ความสุ่มเสี่ยงในมือรบ./คสช.
updated: 10 ส.ค. 2558 เวลา 11:50:01 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในชีวิตประจำวันมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมที่เป็นส่วนตัว อย่างเครื่องมือสื่อสาร รวมถึงการใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยทั่วไป ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้จะมีความพยายามสร้างพฤติกรรมลดใช้พลังงานควบคู่ไปด้วยก็ตาม ขณะที่เทรนด์โลกก็เริ่มหันไปใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนรถยนต์กันแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
- พีดีพี 20 ปี เพิ่มปริมาณไฟฟ้าอีกเกือบเท่าตัว
ด้วยแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ทำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) 2558-2579 หรือพีดีพี 2015 ที่กำหนดให้เมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2579 จะต้องผลิตไฟฟ้าถึง 70,410 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่อยู่ที่ 37,612 เมกะวัตต์ เกือบเท่าตัว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)
โดยในแผนพีดีพีฉบับนี้ได้กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้สมดุลมากขึ้น ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทใดประเภทหนึ่งจนเกินไป โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติจากสัดส่วน 64% ในปัจจุบันเหลือเพียง 30-40% และจะเพิ่มเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาดจาก 20% เป็น 20-25% พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 8% เป็น 15-20% เพิ่มการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศเป็น 15-20% จากเดิม 7% นิวเคลียร์ประมาณ 0-5% และลดดีเซลจาก 1% เหลือ 0%
- ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง 7,365 เมกะวัตต์
ด้วยสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ถูกปรับให้เกิดความสมดุลมากขึ้น ทำให้มีการกำหนดชนิดเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าเกิดใหม่แต่ละประเภทเป็นดังนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 9 โรง 7,365 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา 1 เทพา 2 ไว้ด้วย) ส่วน 6 โรงที่เหลือยังไม่มีแผน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจำนวน 15 โรง รวม 17,478 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ หรือจำนวน 2 โรง โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 1,250 เมกะวัตต์ หรือจำนวน 5 โรง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ทั้งผูกพันแล้วและสร้างใหม่ 4,052 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโครงการใหม่ 12,205 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ มีทั้งผูกพันแล้วและจะสร้างใหม่รวม 2,101 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ
รวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 57,467 เมกะวัตต์ ขณะที่ช่วงดังกล่าวก็จะต้องปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกไปอีก 4,669 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าที่ได้ตามแผนจึงอยู่ที่ 70,410 เมกะวัตต์ดังที่ระบุไว้
- โจทย์ใหญ่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต้องเกิด
ในแผนย่อยนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โรง กำลังผลิตรวม 2,800 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ ก่อสร้างปี 2559 เข้าระบบปี 2562 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 1 จ.สงขลา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ก่อสร้างปี 2561 เข้าระบบปี 2564 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 จ.สงขลา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ก่อสร้างปี 2564 เข้าระบบปี 2567
โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นโรงที่สำคัญที่สุดเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของไฟฟ้าภาคใต้หากเกิดไม่ได้ก็จะมีผลต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เหลือ โดยปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,059 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 2,467 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความเสี่ยง เพราะหากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หยุดเครื่องกะทันหัน ไฟฟ้าในระบบจะไม่เพียงพอ ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลางซึ่งยังมีปัญหาสายส่งที่ต้องลงทุนเพิ่ม
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,200 เมกะวัตต์ กำลังผลิตที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะมีการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง 650 เมกะวัตต์ ลงไปช่วยแล้วก็ตาม
ดังนั้น การเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เข้าระบบในปี 2562 จึงจำเป็น แต่ด้วยขนาดโรงไฟฟ้าที่ค่อนข้างใหญ่ ต้องมีขั้นตอนการขนส่งถ่านหินจากเรือมาทางสายพานลำเลียงทั้งบนบกและใต้ดินในระบบปิดทั้งหมด ก็ยังถูกจับตาเป็นอย่างมาก
- กฟผ.ช้ากว่ากลุ่มต้าน
ที่ผ่านมา กฟผ.มีการเตรียมการรับมือในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี พร้อมส่งทีมงานทำการประชาสัมพันธ์กับประชาชนค่อนข้างมาก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะ "ช้าไปหนึ่งก้าว" หากเทียบกับฝ่ายต้าน ซึ่งผู้บริหาร กฟผ.ก็ยอมรับว่า การเข้าถึงประชาชนของ กฟผ.ช้าไปจริงๆ แม้ กฟผ.จะเข้าไปให้ความรู้ รับฟังความเห็นก่อน แต่ฝ่ายต่อต้านใช้วิธีเข้าไปคลุกคลี อาศัยอยู่ด้วย จนชาวบ้านเชื่อใจมากกว่า จึงเป็นปัญหาที่ กฟผ.ต้องแก้ไข
การดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เริ่มเข้มข้นเมื่อมีการจัดส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ฉบับแก้ไขส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณา หากผ่านการเห็นชอบก็จะเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้การอนุมัติ
ขณะที่กลุ่มต้านก็แสดงความเห็นคัดค้านต่อเนื่องและเพิ่มระดับ โดยหยิบยกผลกระทบด้านการท่องเที่ยว เพราะกังวลว่าการขนส่งถ่านหินทางเรือจะกระทบแนวปะการัง กระทบหมู่เกาะสำคัญๆ ของจังหวัด รวมทั้งอาจกระทบป่าชายเลน ซึ่ง กฟผ.ยืนยันว่ามีแผนดำเนินการที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมแน่นอน แต่กลุ่มต้านยังเคลื่อนไหวพร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้มีการนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน 2.ชะลอการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จนกว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ 3.ยกเลิกผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (เวที ค.1 ถึง ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น
- รัฐบาลตั้งกรรมการไตรภาคีร่วมพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
แม้กระทรวงพลังงานและ กฟผ.จะคงยืนยันดำเนินการตามแผน แต่รัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ที่มีตัวแทนจากฝ่ายกระทรวงพลังงาน กฟผ. ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ และตัวแทนชาวกระบี่ เพื่อชะลอความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาระบุว่า กฟผ.ไม่ควรเปิดประมูลกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะยิ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับชาวบ้านและผู้ที่ไม่เห็นด้วย และบอกว่า กฟผ.ควรถอนรายงานอีเอชไอเอที่ส่งให้ คชก.ก่อนหน้านี้ออกด้วย
- กฟผ.เดินหน้าเปิดให้ยื่นซองเทคนิค/ราคาก่อนเลือกผู้ชนะในอีก 4 เดือน
แต่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา กฟผ.ก็ยังเดินหน้าจัดให้มีการยื่นเทคนิคและยื่นซองประกวดราคาสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยมีกิจการร่วมค้า 2 กลุ่ม รวม 5 บริษัท สนใจคือ 1.กิจการค้าร่วม บริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม จากฝรั่งเศส, บริษัท อัลสตอม (ประเทศไทย) ฝรั่งเศสร่วมกับไทย จำกัด และมารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น และ 2. กิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟไชน่า จากจีน และบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เอกชนไทย
นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. ให้ข้อมูลว่า กฟผ.จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติกลุ่มบริษัทที่เข้ายื่นประมูลภายใน 3 เดือน โดยจะพิจารณารายละเอียดด้านเทคโนโลยี การควบคุมมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ หลังจากนั้นอีก 1 เดือน จะเปิดซองประกวดราคาซึ่งกำหนดราคากลางไว้ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติ เทคโนโลยี และราคาที่ดีที่สุดให้ชนะการประมูล
ซึ่งระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติและซองประกวดราคานั้น ก็จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโรงไฟฟ้า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วที่มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดกว่า 300 ข้อ ที่จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 นี้ด้วย และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 แล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟเข้าระบบปี 2562
- ชี้หากอีเอชไอเอไม่ผ่านการประมูลเป็นโมฆะ
ทั้งนี้ หากอีเอชไอเอและอีไอเอไม่ผ่าน จะมีผลให้การประกวดราคาเทคนิคและก่อสร้างที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นโมฆะโดยปริยายตามเงื่อนไขที่ กฟผ.แจ้งกับเอกชนไว้ เรื่องนี้เอกชนที่ร่วมยื่นซองประมูลอย่างอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บอกว่ายอมรับเงื่อนไขและไม่กังวลที่ประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วยและเคลื่อนไหวคัดค้าน สอดคล้องกับความเห็นของนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าครั้งนี้ และบอกให้ กฟผ.ใช้การสื่อสารได้เกิดประโยชน์
- คสช./รบ.ควรใช้อำนาจตัดสินปัญหา
การตั้งคณะกรรมการไตรภาคีของรัฐบาลนั้นถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดเพราะดูเหมือนเป็นการเตะถ่วงชะลอปัญหาเท่านั้น เพราะจนถึงขณะนี้กระทรวงพลังงานยังไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมคณะกรรมการแต่อย่างใด ดังนั้นรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือควรต้องบอกกล่าวให้ชัดเจนว่าจะเดินหน้าหรือหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้เพียงเท่านี้ ไม่ควรเล่นเกมยื้อไปยื้อมาอย่างนี้
แต่ควรใช้อำนาจที่มีอยู่ตัดสินใจไปเลยว่าเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
และหากไม่เอา...ก็ต้องตั้งรับไว้ด้วยว่า เมื่อภาคใต้ประสบปัญหาวิกฤตไฟฟ้าขาดแคลนจนส่งผลกระทบหรือเสียหายต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ จะตอบคำถามของประชาชนและภาคสังคมว่าอย่างไร!!
ที่มา : นสพ.มติชน